ต่อยอด Plugged Coding สู่ Super AI ฝีมือคนไทย

14 พ.ค. 2564 | 10:59 น.

กระทรวงศึกษาธิการ (วันที่ 14 พฤษภาคม 2564) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โชว์ผลงานครบ 2 ปี ผลักดันนโยบาย Coding แห่งชาติประสบความสำเร็จ พร้อมจับมือดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. เดินหน้าปูพรม Coding ทั่วประเทศ เร่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจประเทศ พร้อมเดินหน้าต่อยอด Unplugged Coding สู่ Plugged Coding มุ่งพัฒนาสู่ Super AI ด้วยฝีมือคนไทย

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัจจุบันการขับเคลื่อนนโยบาย Coding ได้ดำเนินการมาครบ 2 ปี แล้ว นับว่าประสบความสำเร็จมีความคืบหน้าไปอย่างมาก ได้มีการตั้งคณะทำงานและคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะในส่วนของตัวผู้สอนและผู้เรียนซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน กระทรวงศึกษาได้วางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนด้วย Unplugged Coding เพื่อปูทางสร้างฐานความรู้ ความเข้าใจให้แข็งแกร่งจนได้รับการตอบรับอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันถือว่ามีความพร้อมที่จะต่อยอดไปสู่ Plugged Coding ต่อไป ซึ่ง Coding จะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับคนไทยและเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน

ต่อยอด Plugged Coding สู่ Super AI ฝีมือคนไทย

ทั้งนี้ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาได้มีการจัดอบรมคุณครู และบุคลากรการศึกษาไปแล้วมากมาย ซึ่งล่าสุดได้มีการจัดการอบรมออนไลน์สื่อสารสองทางครั้งประวัติศาสตร์ “Coding Core Trainer 2.1” เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคุณครู และบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด ซึ่งประกอบไปด้วย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.), องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 10-16  พฤษภาคม 2564 ซึ่งวิทยากรทุกท่านมีความทุ่มเทและผู้เข้ารับการอบรมมีความตั้งใจเป็นอย่างมากเพื่อนำเอาความรู้นี้ไปถ่ายทอดให้กับเด็กนักเรียน

นอกจากนี้ได้มีการออกแบบการเรียน Unplugged Coding ฉบับนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1-3 ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลมาแล้วเพื่อเป็นคู่มือให้ครูผู้สอนสามรถนำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม โดยจะเน้นการปูพื้นฐานกระบวนการคิดของนักเรียน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เด็กนักเรียนทุกคนควรได้รับการปลูกฝังตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา ซึ่งสิ่งที่ได้ดำเนินการมาถือเป็นการปฏิรูปการศึกษา และประเทศโดยตรงสู่ตัวผู้เรียนและประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งต้องขอขอบคุณคุณครู บุคลากรการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกๆ ท่านเป็นอย่างยิ่งที่ให้ความสนใจและสนับสนุนอย่างเต็มที่

“ที่ผ่านมาเราได้อบรมครูเรื่อง Coding ไปแล้วมากกว่า 2 แสนคน และขณะนี้เรากำลังมีการอบรม Coding Core Trainer 2.1 ซึ่งเป็นการอบรมครูผู้สอนโค้ดดิ้งหลักอีกประมาณ 800 คน ซึ่งเมื่ออบรมแล้วจะทำให้ทั้งประเทศมีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในการประยุกต์ใช้ Coding ในหลายๆระดับในทุกองค์กรการศึกษา สิ่งนี้ถือเป็นความคืบหน้าของ Coding ของกระทรวงศึกษาธิการ”ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

ทั้งนี้การเรียนการสอน Coding จะมีทั้งที่เป็น Unplugged Coding และ Plugged Coding ซึ่งทั้งหมดจะไม่มุ่งเน้นไปที่ครูและนักเรียนเพียงเท่านั้น แต่จะกระจายการเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ และทุกช่วงวัย ภายใต้แนวคิด “Coding for All” เพราะไม่ว่าใครก็ตามจะต้องเรียนรู้และเข้าใจการคิดอย่างเป็นระบบ และนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างมีเหตุมีผล คิดเป็นขั้นเป็นตอน เเก้ปัญหาเป็น สามารถนำหลักคิด มาใช้ในการเรียน การทำงาน การทำธุรกิจ ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจของประเทศ

 

ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์  อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการ Coding เพื่อการปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า Unplugged Coding และ Plugged Coding ถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก การปลูกฝัง หรือสอนให้เด็กเรียน Coding ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องและมีความจำเป็น ซึ่งการคิดเชิงวิเคราะห์ด้วยเหตุและผล หรือ Coding ถือเป็นรากฐานของการเรียนรู้ในทุกสาขาวิชาชีพ โดยสจล. มีความยินดี และพร้อมให้ความร่วมมือในการร่วมผลักดันนโยบาย Coding แห่งชาติที่ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้นำนโยบาย Coding เป็นนโยบายรัฐบาล และผลักดันให้ Coding เป็นวาระแห่งชาติ ให้ประสบความสำเร็จ

ต่อยอด Plugged Coding สู่ Super AI ฝีมือคนไทย

ปัจจุบัน สจล.ได้มีการพัฒนา Supercomputer AI ซึ่งใช้พื้นฐานองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงจากแนวคิด Unplugged Coding และต่อยอดไปจนถึง Plugged Coding จนนำไปสู่การพัฒนา Supercomputer  AI Apex Goliath ภายใต้ความร่วมมือระหว่างพระจอมเกล้าลาดกระบัง ร่วมกับ มหาวิทยาลัย CMKL หรือ Carnegie Mellon University (Thailand) เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ทั้งในด้านการคมนาคมขนส่ง การแพทย์สาธารณสุข รวมไปถึงด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิทัลด้วย Coding อย่างแท้จริง