เทคซอส ฉายภาพลงทุนสตาร์ทอัพ ไทยสูงกว่า 2.52 หมื่นล้านบาท ชี้โควิด ตัวเร่งอุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์ เอดูเคชัน เทคโต ส่วนธุรกิจอาหารและการเกษตรคือหัวใจสำคัญของประเทศ ขณะที่ปี 63 ยอดระดมทุนกว่า 1.08 หมื่นล้านบาท ฟินเทค คริปโต โลจิสติกส์ นำโด่ง
นางสาวอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคสตาร์ทอัพในเมืองไทยมีการระดมทุนสูงถึงกว่า 840 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.52 หมื่นล้านบาท (อัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อ 30 บาท) เป็นตัวเลขที่อาจจะไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์หรืออินโดนีเซีย แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้มองเห็นถึงโอกาสที่ยังเติบโตได้อีกมาก
“ปี 2563 ที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ท้าทายในทุกๆ วงการ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก สำหรับสตาร์ทอัพสายท่องเที่ยว ฮอสพิทาลิตี้ และธุรกิจทางด้านอีเวนต์ต่างๆ ทั้งนี้หากดูจาก ตัวเลขจะเห็นว่ายอดการระดมทุนปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 364 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.08 หมื่นล้านบาท มีจำนวนดีลเกิดขึ้นราว 30 ดีล ซึ่งอาจไม่ได้มากเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ แต่มีหลายดีลใหญ่ที่น่าสนใจ และดีลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าส่วนใหญ่ของสตาร์ทอัพที่มีการลงทุนจะเป็นระดับ Growth stage ตั้งแต่ซีรีส์ A B C และ D ขณะที่สตาร์ทอัพเกิดใหม่หรือกลุ่มที่เป็น Early Stage นั้นอาจจะยังมีไม่มาก เนื่องด้วยสถานการณ์และวิกฤติิที่เข้ามากระทบ
สำหรับภาคธุรกิจที่มีการระดมทุนสูงสุดอันดับ 1 ในแง่ จำนวนของบริษัทจะเป็นธุรกิจทางด้านฟินเทค อาทิ เพย์เมนต์ เกตเวย์ ที่ได้รับอานิสงส์จากอี-คอมเมิร์ซ แพลตฟอร์ม กลุ่ม Wealth Management หุ้น การลงทุนในรูปแบบใหม่อย่างคริปโตเคอเรนซี นอกจากนี้การระดมทุนที่เกิดขึ้นใหญ่มากคือ ในภาคของธุรกิจโลจิสติกส์และแพลตฟอร์มที่รองรับอี-คอมเมิร์ซต่างๆ
นางสาวอรนุช กล่าวต่อไปอีกว่าขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจอย่างเฮลธ์แคร์ และเอดูเคชันเทคเติบโตเป็นอย่างมาก จะเห็นว่าเอดูเคชันเทคในช่วงปีที่ผ่านมามีการระดมทุนหลายราย และภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของประเทศไทยอย่างภาคธุรกิจอาหารและการ เกษตร ซึ่งประเทศไทยมีแหล่งวัตถุดิบที่ดีมีซัพพลาย เชน และ แวลู เชน ที่ใหญ่มากแต่กุญแจสำคัญคือ ทำอย่างไรที่จะเพิ่ม มูลค่าด้วยการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วย ที่ผ่านมาจะเห็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจอาหารที่ส่วนใหญ่จะเป็นในฝั่งของปลายนํ้า จึงอยากจะกระตุ้นให้คนหันมาสนใจในการที่จะลงทุนหรือช่วยสนับสนุนธุรกิจอาหารและภาคการเกษตรตั้งแต่ต้นนํ้า
อย่างไรก็ตามขณะนี้มี Accelerator หลายโครงการที่เข้ามาสนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชน อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญคือ องค์กร (Corporate) เมื่อพูดถึงคำว่าดิสรัปชันในที่นี้ไม่ใช่ดิสรัปชันที่มาจากสตาร์ทอัพแต่คีย์สำคัญคือ เรื่องของสตาร์ทอัพกับคอร์ปอเรต ซึ่งองค์กรกำลังเผชิญกับความท้า ทายที่มาจากดิสรัปชันในเชิงของเทคโนโลยีและสิ่งที่สำคัญ คือดิสรัปต์ที่เกิดขึ้นจากโรคโควิด-19 ที่ทำให้องค์กรต้องรีบเร่งปรับตัวและทรานส์ฟอร์ม ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาเทคซอสได้เข้าไปช่วยองค์กรในการทรานส์ฟอร์มทั้งในเรื่องของโมเดลธุรกิจ การวางกลยุทธ์มีกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อช่วยสนับสนุนองค์กรในการทรานส์ฟอร์มและค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ กว่า 100 บริษัท โดยเทคซอสมีเครือข่ายจากทั่วทุกมุมโลกกว่า 10,000 บริษัททางด้านเทค คอมปะนี เชื่อมโยงการจับคู่ทางธุรกิจต่างๆ โดยอุตสาหกรรมที่เจาะลึก เช่น ฟินเทค สมาร์ทซิตี้ ธุรกิจอาหาร การเกษตร รวมถึงองค์กรที่สนใจในการลงทุนด้านเอไอโรโบติกส์และบล็อกเชน โดยเทคซอสเป็นเกตเวย์ในการเชื่อมโยง
“ที่ผ่านมามักมีคำถามเกิดขึ้นตลอดเวลาว่าสตาร์ทอัพไทยสามารถแข่งขันกับสตาร์ทอัพต่างประเทศได้จริงหรือ ทั้งนี้จะเห็นว่าสตาร์ทอัพทั่วโลกนั้นส่วนใหญ่กว่า 90% จะเฟลแต่เราก็ยังมีทาเลนต์หรือคนที่มีศักยภาพอีกกว่า 10% ที่พยายามขับเคลื่อนประเทศไปด้วยนวัตกรรม จริงๆ แล้วคนไทยก็มีศักยภาพที่จะทำได้
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,682 หน้า 16 วันที่ 27 - 29 พฤษภาคม 2564