“แฟลช กรุ๊ป” ทะยานขึ้นสู่ยูนิคอร์นรายแรกเมืองไทย หลังมูลค่าธุรกิจแตะ 30,000 ล้านบาท พร้อมขึ้นแท่นขนส่งอันดับหนึ่ง ยอดจัดส่งวันละ 2 ล้านชิ้น ล่าสุดเนื้อหอมจัด ปิดดีลใหญ่ ระดมทุนรอบซีรีส์ D+ และ ซีรีส์ E ได้เงิน 4,700 ล้านบาท ขยายโครงสร้างพื้นฐานไอที พร้อมขยายสยายปีกสู่อาเซียนปลายปีนี้
ชื่อของ “แฟลช เอ็กซ์เพรส” เริ่มเป็นที่รู้จักภายหลังจากเริ่มเปิดบริการเมื่อปี 61 ด้วยการความเป็นสตาร์ทอัพที่ชูเทคโนโลยีขึ้นมาช่วยในการจัดการการขนส่ง และสามารถลดต้นทุน ทำให้ราคาให้บริการเริ่มต้นที่ 19 บาท หลังจากนั้นแฟลชเอ็กซ์เพรสก็ขยายธุรกิจจนก้าวขึ้นมาเป็นผู้ให้บริการขนส่งพัสดุแถวหน้าเมืองไทย และเป็นสตาร์ทอัพเนื้อหอมได้รับความสนใจลงทุนจากนักลงทุนมากสุด จนวันนี้แฟลชสามารถนำพาธุรกิจขึ้นมาถึงจุดใฝ่ฝันของสตาร์ทอัพทุกราย นั่นคือ “ยูนิคอร์น”
นายคมสันต์ ลี ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจแฟลช (Flash Group) ผู้ให้บริการอี-คอมเมิร์ซ สัญชาติไทยแบบ ครบวงจร อธิบายกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แฟลช กรุ๊ป (Flash Group) เป็นสตาร์ทอัพ (Startup) ไทยรายแรกที่สามารถก้าวถึงระดับยูนิคอร์น โดยมีมูลค่าธุรกิจของบริษัท (Market Valuation) มีมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 30,000 ล้านบาท โดยเป็นสตาร์ทอัพที่สามารถระดมทุนรวมได้มากที่สุดในระยะเวลาเพียงแค่ 3 ปี และเป็นผู้ให้บริการขนส่งเอกชนอันดับ 1 ที่มีตัวเลขจัดส่งพัสดุต่อวันสูงสุดวันละ 2 ล้านชิ้น
“การเป็น Unicorn (ยูนิคอร์น) บริษัทไม่ได้ดูจากเม็ดเงินจากการระดมทุนเพียงอย่างเดียว แต่เราเป็น Startup ที่มีมูลค่าบริษัท (Market Valuation) มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 30,000 ล้านบาท จึงขอยืนยันว่าเราเป็น Unicorn เรียบร้อยแล้ว”
ล่าสุดได้ระดมทุนรอบซีรีส์ D+ โดยมีผู้ร่วมทุนรายใหม่อย่าง SCB 10X และ บริษัท จันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้พริ้นท์ติ้ง จำกัด เข้าสนับสนุน และในส่วนของซีรีส์ E ก็ยังคว้า Buer Capital กลุ่มทุนจากสิงคโปร์ ร่วมด้วย SCB 10X ที่ให้การสนับสนุนทั้งซีรีส์ D+ และ E ตามด้วยผู้ลงทุนเดิมอย่าง eWTP, บริษัท ปตท. นํ้ามัน และการ ค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์, บริษัท เดอเบล จำกัด (Durbell) ภายใต้กลุ่มธุรกิจ TCP, บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด (Krungsri Finnovate) ในเครือกรุงศรี กรุ๊ป ที่ลงทุนเพิ่มในซีรีส์ E ซึ่งดีลใหญ่นี้ทำให้กลุ่มธุรกิจแฟลช (Flash Group) สามารถระดมทุนไปได้สูงถึง 150 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 4,700 ล้านบาท
“เม็ดเงินจากกระระดมทุนจะถูกกระจายไปในหลายสัดส่วน หลักๆ คือ พัฒนาด้าน โครงสร้างพื้นฐาน และลงทุนเทคโนโลยีเพิ่มครอบคลุมไปถึงการลงทุนในด้านแพลตฟอร์ม eCommerce ที่จะตอบโจทย์ และสร้างความแตกต่างให้แก่ตลาด รวมถึงการเพิ่มช่องทางการขาย ขยายบริการ และสร้างกลยุทธ์ใหม่ๆ รวมถึงการขยายธุรกิจไปในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามแผนธุรกิจที่วางไว้ ทั้งนี้ในอนาคตยังมีแผนต่อยอดไปในส่วนการเพิ่มพนักงาน บริการใหม่ๆ ที่สนับสนุนกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์”
ผู้ลงทุนเชื่อมั่นในศักยภาพของบริษัท โดยจากนี้จะทยอยประกาศความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นระหว่างกลุ่มธุรกิจแฟลช กับผู้ลงทุน ซึ่งแน่นอนว่ากลยุทธ์หลักของแผนการทำงานยังคงมุ่งไปที่การเป็นผู้ให้บริการแบบอี-คอมเมิร์ซแบบครบวงจร ทั้งในประเทศไทย และสากล รวมไปถึงการเร่งขยายบริการออกสู่ต่างประเทศโดยยึดความตั้งใจเดิม คือ เริ่มจากกลุ่มประเทศในแถบภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) แม้จะมีอุปสรรคในช่วงสถานการณ์โควิด แต่แผนการทำงานของ แฟลช กรุ๊ป ยังคงเดินหน้าต่อไป ซึ่งคาดว่าภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น โดยจะเริ่มเปิดให้บริการบางส่วนในประเทศแถบภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
กลุ่มธุรกิจแฟลช (Flash Group) ก่อตั้งขึ้นจากแนวคิด การเป็นผู้ให้บริการ E-commerce สัญชาติไทยแบบครบวงจร โดยได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มนักลงทุนหลายอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมสนับสนุน ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจแฟลช (Flash Group) มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด พร้อมธุรกิจในเครือหลากหลายประเภท อาทิ Flash Express ผู้ให้บริการขนส่งแบบครบวงจร ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นหัวใจหลักในการบริหารจัดการด้านระบบขนส่ง โดยปัจจุบัน Flash Express มียอดจัดส่งพัสดุต่อวันสูงสุดร่วม 2 ล้านชิ้น นอกจากนี้ยังมีบริการ Flash Fulfilment คลังสินค้าแบบครบวงจร ที่มีบริษัทชั้นนำเป็นพันธมิตร และใช้บริการมากมาย รวมถึงบริษัทในเครืออีกหลายบริษัทที่สอด คล้องกับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซและรูปแบบตลาดของประเทศไทย รวมไปถึงบริการใหม่ที่เตรียมขยายออกสู่กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,685 หน้า 19 วันที่ 6 - 9 มิถุนายน 2564