บันได 4 ขั้นขับเคลื่อน“AI for Thai” สู่แพลตฟอร์มระดับชาติ

03 มิ.ย. 2564 | 11:42 น.

การพัฒนาการของ AI อย่างรวดเร็วทำให้เกิดคำถามว่า “วงการปัญญาประดิษฐ์ของไทยอยู่ ณ จุดไหน ?”  โดยประเทศไทยเริ่มเดินหน้าวางยุุทธศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์ โดยจัดทำร่าง “แผนแม่บทปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย” 

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็ก ทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ในฐานะคณะทำงานและเลขานุการร่วม เล่าว่า วัตถุประสงค์ของแผนแม่บท AI ประเทศไทย คือ การพัฒนาคน พัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาเศรษฐกิจ และพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นำร่องในกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ ด้านการแพทย์และสุขภาพ ด้านเกษตรและอาหาร และด้านการใช้งานและบริการภาครัฐ ผ่านยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ได้แก่ 1. การ
เตรียมความพร้อมของประเทศในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบ สำหรับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์, 2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น Cloud, HPC, AI Sevice Platform 

3. การเพิ่มศักยภาพบุคลากรและการพัฒนาการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์  4. การเพิ่มศักยภาพบุคลากรและการพัฒนาการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์ และ 5. การส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระบบปัญญาประดิษฐ์ในภาครัฐและภาคเอกชน  อย่างไรก็ตามในยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานปัญญาประดิษฐ์นั้น ได้มีแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ปี 2562 นั่นคือ “AI for Thai” แพลตฟอร์มให้บริการปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย

บันได 4 ขั้นขับเคลื่อน“AI for Thai” สู่แพลตฟอร์มระดับชาติ

AI for Thai กำลังก้าวสู่ปีที่ 2  โดยมียอดการใช้งานพุ่งทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2561 จนถึงวันนี้ มีการเรียกใช้งาน (Request) กว่า 20 ล้านครั้ง และยอดผู้ใช้งาน (Developers) รวมกว่า 6 พันคน   โดย AI for Thai ให้บริการ API ด้านปัญญาประดิษฐ์ครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ เทคโนโลยีการประมวลผลภาพ การสนทนา และข้อความ แบ่งออกเป็น ด้านข้อความ 20 บริการ ด้านภาพ 13 บริการ ด้านเสียงและแชตบอท 3 บริการ 

ในเวทีร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในรูปแบบออนไลน์ ถึงปัจจัยและความท้าทายของการพัฒนา AI for Thai สู่ AI Service Platform ระดับประเทศ จากกูรูวงการ AI ของไทยนั้นสามารถสรุปปัจจัยการขับเคลื่อน AI for Thai สู่แพลตฟอร์ม AI ระดับชาติ ได้เป็น 4 หัวข้อ  คือ 1. “จุดเด่นด้านภาษาไทย” ต้องพัฒนาให้เร็วและดีพอก่อนทุนนิยมเล่นงานโดยศาสตราจารย์ ดร. ธนารักษ์ ธีระมั่นคง สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย  กล่าวว่าจุดเด่นของ AI for Thai คือ การเป็นแพลตฟอร์มของคนไทย พัฒนาโดยคนไทย ด้วยทรัพยากรและใช้งานเป็นภาษาไทย ซึ่งถ้าเทียบกับที่อื่นอาจจะยังใช้งานภาษาไทยได้ไม่ดีเท่ากับ AI for Thai

“เราควรนำความสามารถที่ที่อื่นยังทำไม่ได้มาเป็นจุดขาย แน่นอนว่าที่อื่นจะพัฒนาตามเรามาในสักวันหนึ่ง ผมว่าห่วงถ้าเราพัฒนาได้ไม่เร็วพอ ไม่ดีพอ วันหนึ่งเราอาจถูกกลบไปด้วยทุนนิยม”

2. เปรียบ AI แห่งชาติเป็นทีมฟุตบอล ต้องมีหลายผู้เล่น   ในมุมมอง ดร.ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ CEO บริษัท เอไอไนน์ (AI9) นักวิจัยเนคเทค สวทช. หนึ่งในผู้ก่อตั้ง AI for Thai นั้น AI ต้องมีผู้เล่นหลายส่วนเปรียบเสมือนทีมฟุตบอล โดยมี AI for Thai เป็นศูนย์กลางที่รวบรวมงานวิจัย AI ของประเทศที่มีผู้พัฒนาและผู้ใช้เป็นคนไทย

3.AI Marketplece สร้างจุดเปลี่ยนจากผู้ทดลองสู่ลูกค้า   โดย ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร CEO บริษัท ไอแอพพ์เทคโนโลยี จำกัด ให้ความเห็นว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้าน AI ใช้คนมาใช้ ต้องทำผู้ใช้รู้ว่า AI ตัวนี้จะช่วยหรือตอบโจทย์บางอย่างได้จริง จากการให้ผู้ใช้ได้ทดลอง ทดสอบใช้งาน ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับบริษัท Startup ที่จะเปิดโอกาสให้ผลงานเป็นที่จดจำ และโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงจากผู้ทดลองใช้สู่ลูกค้าต่อไป ซึ่ง AI for Thai ตอบโจทย์ในจุดนี้

“บริษัทเรามีลูกค้ารายใหญ่ของประเทศ ทั้งด้านธนาคาร ธุรกิจประกันภัย และห้างสรรพสินค้า เขาบอกว่าที่เขารู้จักเรา เพราะว่า ได้ลองใช้บริการของเราบน AI for Thai ดังนั้น การที่เรามีตลาดกลางหรือเป็นศูนย์รวมกลางที่ให้ทุกคนสามารถมาทดสอบ AI เป็นการเปิดโอกาสให้บริษัท Startup ได้มีโอกาสที่ได้นำผลิตภัณฑ์และบริการดี ๆ ออกมาสู่มือผู้ใช้

4. ก้าวสู่แพลตฟอร์ม AI ระดับชาติ เสถียรภาพต้องดี  โดยหนึ่งปัจจัยสำคัญในการก้าวสู่แพลต ฟอร์ม AI ระดับชาติ คือ “ทรัพยากร” ที่จะทำให้ระบบมีเสถียรภาพรองรับบริการใหม่ ๆ จำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มมากขึ้น และการขยายตัวทางธุรกิจ ซึ่งเรื่องของทรัพยากรเคยเป็นปัญหาหนึ่งที่ AI for Thai ต้องเผชิญ 

โดยสรุปแล้วการสร้างระบบนิเวศด้าน AI คงต้องอาศัยการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแพลตฟอร์ม AI ระดับชาติในอนาคต

 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,685 วันที่ 6 - 9 มิถุนายน พ.ศ. 2564