ดร.กริชผกา บุญเฟื่อ รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า จากการสำรวจระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตรในประเทศไทย (AgTech white paper) หนึ่งในข้อที่เป็นอุปสรรคที่สำคัญและยังเป็นช่องว่างสำหรับสตาร์ทอัพด้านการเกษตร (AgTech Startup) คือ เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี ทั้งจากการรับรู้และความไม่เข้าใจถึงเทคโนโลยีหรือบริการ รวมทั้งยังขาดการเชื่อมโยงให้รู้จักผลิตภัณฑ์หรือบริการของสตาร์ทอัพ เนื่องจากเกษตรบางส่วนยังมีความกังวลถึงความคุ้มค่าในการใช้เทคโนโลยี ความรู้ และทักษะในการใช้งาน ประกอบกับแรงงานในภาคการเกษตรมีอายุเฉลี่ยที่สูงขึ้น จึงต้องมีการเร่งสร้างเพื่อให้เกิดสังคมที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และเข้าสู่สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในภาพการเกษตรของไทยและเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
แพลตฟอร์ม AgTech Connext ถือเป็นสะพานเชื่อมให้กับสตาร์ทอัพด้านการเกษตรให้มีโอกาสในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และเป็นช่องทางให้กับกลุ่มเกษตรกรได้รับรู้ รวมทั้งโอกาสนำไปประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดจากสตาร์ทอัพการเกษตรของไทยเพิ่มกระจายในวงกว้างขึ้น
15 สตาร์ทอัพด้านการเกษตรลอตแรก ที่ผ่านการคัดเลือก และมีเทคโนโลยีพร้อมใช้งาน มีสินค้าหรือบริการที่ช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่การบริหารจัดการฟาร์มด้วยอุปกรณ์เซนเซอร์ และการควบคุมด้ายเทคโนโลยีที่แม่นยำ การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ที่จะช่วยยืดอายุสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคในช่วงระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น และระบบตลาดที่จะส่งสินค้าเกษตรให้ถึงมือผู้บริโภคได้อย่างตรงความต้องการ
สตาร์ทอัพรายแรก "น้ำเชื้อว่องไว" นำเทคโนโลยีชีวภาพมาสร้างความแม่นยำในการติดสัตว์สำหรับวัวเนื้อและวัวนม ร่วมกับระบบผสมเทียมโคแบบกำหนดเวลา และน้ำเชื้อโคกระบือคัดเพศได้ตามความต้องการและแม่นยำสูง
ในอีกกลุ่มของกลุ่มประมง สตาร์ทอัพ "อัลจีบา" พัฒนาเครื่องนับลูกสัตว์น้ำ ช่วยให้การนับลูกสัตว์น้ำ อาทิ ลูกปลา ไข่ปลา ลูกกุ้งพี ลูกกุ้งก้ามกราม ลูกปู เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และมีหลักฐานการนับ
อีกรายคือ "อควาบิซ" เข้าร่วมพัฒนาตั้งแต่การผลิตสัตว์น้ำจากฟาร์มของเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประมงที่เหลือจากการขายสดแล้ว มาเข้ากระบวนการแปรรูป แล้วนำออกไปจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์
อีกสัตว์เศรษฐกิจใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยม คือการเลี้ยงจิ้งหรีด เพื่อนำมาผลิตเป็นโปรตีนทางเลือกจากแมลง ที่เป็นอาหารทางเลือกใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจ "เดอะบริคเก็ต" นำเสนอการระบบการฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดแนวตั้ง ด้วยการควบคุมอย่างแม่นยำด้วยไอโอที จะได้ผลผลิตที่ชัดเจนและตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน ตอบโจทย์การผลิตภายใต้ห่วงโซ่ของอาหารในอนาคต
สำหรับในกลุ่มการปลูกผัก พืชไร่ พืชสวน มีหลากหลายสตาร์ทอัพ ที่จะนำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์ปัญหาที่ท้าทายสำหรับด้านการเกษตร สตาร์ทอัพฝีมือดีอย่าง "รีคัลท์" ที่นำข้อมูลขนาดใหญ่ของภาพถ่ายดาวเทียมที่จะมาพยากรณ์อากาศได้อย่างแม่นยำ ทำให้การวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างแม่นยำ พร้อมต่อยอดรับกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกผัก ผลไม้ ที่ได้รับรอง GAP เพื่อนำมาส่งต่อให้กับร้านอาหารและโมเดิร์นเทรด
อีกรายคือ "โกรว์เด่ ฟาร์มมิ่ง" มีโรงเรือนปลูกพืชคุณภาพสูง รวมทั้งเกษตรอินทรีย์ด้วยราคาเข้าถึงได้ พร้อมรับซื้อผลผลิต ที่มีขยายผลการนำไปใช้ปลูกกัญชงกัญชาที่กำลังได้รับความสนใจสูงในช่วงนี้ด้วย
และ "เอเวอร์โกล" อีกหนึ่งสตาร์ทอัพ ที่เหมาะกับเกษตรกรที่ทำกลุ่มปลูกพืชในโรงเรือนที่ต้องการเครื่องจ่ายสารละลายแบบ Inline injection ที่คุณภาพเทียบเท่าระดับนานาชาติ พร้อมด้วยระบบโรงเรือน ที่มีการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างแม่นยำ
"ฟาร์มไทยแลนด์" สตาร์ทอัพที่ใช้พื้นฐานความรู้ของไอโอที มาต่อยอดระบบสมาร์ทฟาร์ม เพื่อให้เกษตรกรสามาถจัดการควบคุม ดูเเลผลผลิตทางการเกษตร ผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ได้ทุกที่ ทุกเวลา
พาไปอีกรายที่ขอนำร่องเฉพาะกับกลุ่มผู้ปลูกมันสำปะหลังในเขตแปดริ้ว ได้แก่ "ไบโอ แมทลิ้งค์" ที่มีระบบบริหารการดูแลการปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกรสมาชิกและจับคู่ตลาดกับเกษตกรมันสำปะหลังแบบมีประกันราคาไม่ต่ำกว่า 2 บาทต่อกิโลกรัม
"โนวี่ โดรน" เป็นตัวช่วยเกษตรกรรุ่นใหม่ ลดเวลา เพิ่มผลผลิต คืนทุนไว เพิ่มรายได้ ลดการสัมผัสสารเคมี รวมถึงมีบริการอีกอย่างหลากหลายด้วยการบินสำรวจ และการวิเคราะห์ข้อมูลด้านต่างๆ ที่จะทำงานร่วมกับ เก้าไร่ เป็นแพลตฟอร์มการให้บริการฉีดพ่นสารอารักขาพืช โดยการจองบริการโดรนผ่านแอพพลิเคชั่น มีระบบบันทึกข้อมูลการใช้บริการของลูกค้า
เมื่อผลิตสินค้าเกษตรที่ได้ผลผลิตมาอย่างดี แต่การเพิ่มอายุในการเก็บรักษาก่อนส่งมือผู้บริโภค เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างสูงสำหรับประเทศไทยที่มีสินค้าเกษตรเมืองร้อนเปลือกบาง มีการเน่าเสียได้ง่าย และเปลี่ยนสีเมื่อปอกเปลือกแล้ว ดังนั้น "อีเด็น อะกริเทค" สารเคลือบยืดอายุผัก ผลไม้ และผลไม้ตกแต่ง จึงมาตอบโจทย์ได้อย่างดี ดังนั้นโรงรวบรวมและตัดแต่งบรรจุ จะมีโจทย์พัฒนาร่วมกันที่จะยืดอายุการเก็บรักษาได้อย่างเหมาะสมห้ามพลาด
อีกหนึ่งกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่เป็นแพลตฟอร์มตลาด ส่งสินค้าเกษตรสู่ผู้บริโภค ร้านค้า โรงงานผลิต เริ่มจาก "เฮิร์ป สตาร์ทเตอร์" พัฒนาธุรกิจและสร้างนวัตกรรมตลาดสินค้าเพื่อชุมชน กับภาระกิจช่วยสร้างยอดขาย สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างมีระบบ "ฟาร์มโตะ" มีระบบเจ้าของร่วมผลิตที่เชื่อมโยงเกษตรกรและผู้บริโภคเข้าหากัน ผ่านการขายผลผลิตเกษตรรูปแบบใหม่ตลาดออนไลน์ และ "แคสปี้" เป็นแหล่งซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์ที่มีสินค้ามากมายให้เลือก มุ่งเน้นการคัดสรรเกษตรกรที่มีความมุ่งมั่นสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยมุ่งสู่เกษตรอินทรีย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง