การออกประกาศหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วีธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล สั่งห้ามศูนย์ซื้อขายให้บริการ Utility Token และคริปโท 4 ประเภท ได้แก่ Meme-Fan Token-NFT-เหรียญที่สร้างเองในการใช้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชน ของ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 11 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาสร้างเครื่องหมายคำถามให้กับผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และนักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากประกาศดังกล่าวไม่ผ่านการทำประชาพิจารณ์ และเกรงว่าประกาศดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการพัฒนาระบบนิเวศทางด้านสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย
โดยอรรถกฤต ชิมผลาพิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลรายใหญ่ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประกาศดังกล่าวถือเป็นการคุมกำเนิดการพัฒนาวงการสินทรัพย์ดิจิทัลของไทย ควบคุมเฉพาะผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลของไทย ซึ่งท้ายสุดแล้วนักลงทุนหันไปซื้อขายในต่างประเทศ เท่ากับว่าเป็นการปิดกั้นการพัฒนาระบบนิเวศ หรืออีโคซิสเต็ม ของสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย อีกทั้งยังไม่มีการทำประชาพิจารณ์สอบถามความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งหลังจากนี้บริษัทจะขอเข้าหารือกับทาง ก.ล.ต.ถึงข้อกังวลต่อประกาศดังกล่าว
“ประกาศดังกล่าว ควบคุมเฉพาะผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ห้ามเหรียญที่ออกโดยศูนย์ซื้อขาย หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชน แต่ไม่ได้ห้ามโบรกเกอร์ ดีลเลอร์ เสนอซื้อขาย ขณะที่เหรียญ Fan Token ก็มียูสเคส ที่เกิดจริง มีกลุ่มคนซื้อขายแล้วหลายแสนคน ส่วน Non-Fungible Token (NFT) เหรียญที่แสดงสิทธิเป็นโทเคนที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้แสดงสิทธิที่ดิน คอนโด ซึ่งการออกประกาศดังกล่าวออกมาจะทำให้ต่อไปการเข้าถึงอุตสาหกรรมอนาคตใหม่ๆ เหล่านี้ยากขึ้น ทางออกในเรื่องดังกล่าวนั้นมองว่า ก.ล.ต.ไม่ควรปิดกั้น แต่ต้องป้องกันความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมและให้ความรู้กับนักลงทุน”
ด้านนางจารุพรรณ อินทรรุ่ง ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. (สายธุรกิจตัวกลางและตลาด) กล่าวว่า แนวทางการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอยู่ 2 ส่วนหลัก ได้แก่ การออกเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัล และการกำกับดูแลผู้ประกอบการธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดย ห้ามนำเหรียญที่มี 4 ลักษณะมาซื้อขาย (Listed) ประกอบด้วย
1. Meme Token เหรียญที่ไม่มีสิ่งใดรองรับ ราคาขึ้นอยู่กับกระแสโลกโซเชียล เนื่องด้วยเห็นว่ามีการเก็งกำไรสูงทำให้เกิดความผันผวนของราคาได้ง่าย
2. Fan Token เหรียญที่เกิดจากระแสความชื่นชอบส่วนบุคคล เนื่องจากการให้ราคาของเหรียญจะขึ้นอยู่กับความชื่นชอบ ความรู้สึกที่มีต่อเหรียญนั้น ราคาจึงมีความผันผวนและมีการเก็งกำไรสูง รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหรียญโดยตรงก็อาจจะมีข้อมูลภายในที่มากกว่าคนอื่น อาจนำไปสู่การเอาข้อมูลตรงนั้นมาใช้ประโยชน์ในการซื้อขาย และเอาเปรียบผู้ซื้อขายคนอื่นได้
3. Non-Fungible Token (NFT) เหรียญที่แสดงสิทธิในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ซึ่งเหรียญจะมีตลาดเฉพาะอยู่แล้ว จึงมองว่าไม่เหมาะกับการนำมาลิสต์ในตลาดรอง และ
4. เหรียญที่ออกโดยศูนย์ซื้อขาย หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชน อาจเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เนื่องด้วยบุคคลที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้ที่กำหนดไวท์เปเปอร์ (White paper) การที่จะเปลี่ยนแปลงไวท์เปเปอร์ก็สามารถดำเนินการได้ตลอดเวลา หรือการให้ข่าวที่มีผลกระทบกับเหรียญ การใช้ข้อมูลภายในที่เอาเปรียบคนอื่น ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อตัวผู้ซื้อขายคนอื่นๆ ที่ไม่มีข้อมูล
ก.ล.ต.พิจารณาแล้วว่า 4 เหรียญดังกล่าวนี้มีโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงสูง และกระทบกับผู้ลงทุน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องออกเกณฑ์ดังกล่าวนี้มา เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน อย่างไรก็ตามก.ล.ต.ยังอนุญาตให้ออกและเสนอขายได้ ในกรณีที่เหรียญเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,688 วันที่ 17 - 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง