นายชัยวุฒิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่ากระทรวงดีอีเอส มีแนวคิดผลักดัน แอปพลิเคชัน พอร์ทัล (Application Portal) ศูนย์รวมแอปฯ ต่างๆของรัฐ ที่จำเป็นไว้ช่องทางเดียวเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงง่าย ปลอดภัย ลดความความซ้ำซ้อน สับสน โดยกระทรวงดีอีเอส จะเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ Nation Digital ID หรือโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อให้ทุกคนเข้าถึง
“ช่วงที่ผ่านมา พบว่าประชาชนไม่ทราบว่า ตนเองมีสิทธิ์อะไรบ้างที่จะได้รับสวัสดิการรัฐ รวมถึงเกิดความสับสนจากความซ้ำซ้อนของแอปพลิเคชัน ที่แต่ละหน่วยงานประกาศใช้ จนสร้างความสับสน โดยตอนนี้เรามีทั้งหมอพร้อม หรือ ไทยรวมใจ ที่สำคัญยังพบว่ามีมิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางหลอกลวงทำให้เกิดความเสียหาย”
นายชัยวุฒิ กล่าวต่อไปอีกว่าแนวคิดดังกล่าวเริ่มขึ้นจากการประชุมร่วมกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ได้เสนอไปยัง พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานพัฒนาแอพฯ ออกมาให้บริการลงทะเบียนรับบริการภาครัฐหรือลงทะเบียนฉีดวัคซีน ทำให้ประชาชนสับสน ซึ่งในอนาคตนายกรัฐมนตรีก็ต้องการผลักดันให้เกิด One Country One Platform หรือ OCOP เป็นศูนย์กลางการให้บริการด้านดิจิทัลแก่ประชาชน ให้ถูกต้อง ปลอดภัย ไม่สับสน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน
นอกจากนี้ กระทรวงดีอีเอส อยู่ระหว่างการหารือกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อพัฒนาระบบระบุตำแหน่ง หรือ โลเคชัน ในรูปแบบของรหัสบ้าน หรือที่อยู่อาศัยทั้งบ้านและคอนโด โดยอาจเป็นหมายเลข 13 หลัก เพื่อใช้แทนบ้านเลขที่ ซอย ถนน ทั้งนี้เพื่อลดการพึ่งพาแอพต่างประเทศ กูเกิลแมป หรือแอปโลเคชั่น
ด้านนายปกรณ์ เจียมสกุลทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด ที่ปรึกษาที่ด้านกลยุทธ์และการจัดการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดการรวมแอปบริการต่างๆของภาครัฐไว้ภายใต้แอปเดียว เพื่อลดความซ้ำซ้อน และสร้างความสับสนให้กับประชาชน อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพสูงกว่า และง่ายต่อการบริหารจัดการของภาครัฐ ทั้งนี้มองว่าในแง่ของเทคนิคแล้วการรวมแอพบริการภาครัฐไว้ที่เดียวไม่ใช่ปัญหา แต่ในเชิงปฏิบัติอาจดำเนินการได้ยาก เพราะหน่วยงานของรัฐ แต่ละหน่วยงานต้องการเป็นเจ้าของแอป ขณะเดียวกันหากรวมกันได้จริง หากไม่มีการพัฒนาต่อเนื่อง ท้ายสุดก็ไม่สามารถดึงคนเข้ามาใช้บริการ
ส่วนนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com หนึ่งในกูรูทางด้านดิจิทัล กล่าวว่าทุกวันนี้มีแอปบริการหน่วยงานภาครัฐออกมาเป็นจำนวนมาก และกระจัดกระจายแนวคิดของดีอีเอส ในการรวมแอปบริการภาครัฐ มาอยู่ภายใต้แอปเดียวกัน เป็นเหมือนกับซูเปอร์แอป บริการภาครัฐ จึงถือเป็นเรื่องดี ประชาชนสามารถติดต่อผ่านช่องทางเดียวเข้าถึงทุกบริการ ลดความซ้ำซ้อน ลดค่าใช้การโปรโมตดึงคนเข้ามาใช้บริการ แต่ความท้าทายคือการจัดการระบบหลังบ้าน และการเชื่อมโยงแอปต่างๆภาครัฐเข้าด้วยกัน ซึ่งหน่วยงานใดจะเป็นเจ้าภาพ
“เรามีแอพที่ใกล้เคียงสุดในการรวมทุกอย่างไว้ด้วยกัน คือ “แอปเป๋าตัง” ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาไปสู่ซูเปอร์แอปของประเทศ ส่วนเจ้าภาพควรบรูณาการกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงดีอีเอส ที่ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลภาครัฐ หรือ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ DGA ซึ่งที่ผ่านมาทำหน้าที่รวบรวมบริการหน่วยงานภาครัฐมาระดับหนึ่งแล้ว”
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,690 วันที่ 24 - 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง