3 พันธมิตรดึง IoT พลิกโฉมเกษตรชุมชนสู่ Smart Farming ก้าวไกลสู่ครัวโลก

01 ก.ค. 2564 | 03:09 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ค. 2564 | 10:36 น.

ติงส์ ออน เน็ต ร่วมกับ พี.ที.เอ็น.อินโนเวชั่น และสหกรณ์บริการ ส่งเสริมอาชีพและวัฒนธรรมชลบุรี ผสานความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ดึงโซลูชัน IoT ครบวงจรผ่านอุปกรณ์ไฮเทคและโครงข่ายสัญญาณ มาขับเคลื่อนเกษตรชุมชนอัจฉริยะ (Smart Farming) ต่อยอดฟาร์มเห็ดไทยสู่ครัวโลก

ดร.เจมส์  ลิ้มรพีพงษ์ ประธานคณะกรรมการ สหกรณ์บริการ ส่งเสริมอาชีพและวัฒนธรรมชลบุรี จำกัด เปิดเผยว่า สหกรณ์ฯ เปิดดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลาหนึ่งปีกว่า ปัจจุบันมีสมาชิก 45 คน ในจำนวนนี้ประกอบธุรกิจฟาร์มเห็ดนางฟ้า นางฟ้าภูฐาน นางนวลชมพู และนางรมทอง เป็นอาชีพหลักรวม 10 ครัวเรือน ในระยะแรกกลุ่มเกษตรกรใช้วิธีเพาะเลี้ยงเห็ดแบบโรงเรือนทั่วไปใช้วัสดุไม้เหลือใช้หรือต้นไม้เสาเข็มนำมาทำโรงเรือน ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและใช้เงินลงทุนต่ำ แต่ต้องเผชิญกับความเสี่ยง เรื่องโรคราต่างๆ เช่น ราเหลือง ราเขียว ราดำ เป็นต้น ส่งผลให้ได้ผลผลิตไม่แน่นอน ไม่สามารถผลิตเห็ดให้มีคุณภาพสูงและมีมาตรฐานที่จะจำหน่ายภายในประเทศ หรือส่งออกเป็นอุตสาหกรรมได้ สหกรณ์ฯ จึงเปลี่ยนแนวคิดสู่การเพาะเห็ดแบบโรงเรือน Smart Link ที่ให้ผลผลิตสูง มีความสม่ำเสมอ และผลิตดอกเห็ดได้ตลอดปี ทดแทน

“การเพาะเลี้ยงเห็ดสายพันธุ์ต่างๆ แบบใช้โรงเรือน มีข้อดีคือมีประสิทธิภาพและให้ประสิทธิผลสูง แต่มีอุปสรรคใหญ่สำหรับเกษตรกรชุมชน คือต้องใช้งบลงทุนที่สูงมาก ทั้งค่าก่อสร้างโรงเรือน ระบบการให้น้ำ และอุปกรณ์อื่นๆ อีกทั้งขั้นตอนการเพาะเห็ดวิธีนี้มีความซับซ้อน ตั้งแต่การเตรียมโรงเรือน อบฆ่าเชื้อ ปรับอุณหภูมิ ความชื้นและแสง ไปจนถึงขั้นตอนการเกิดดอกและเก็บเกี่ยว หากปรับสภาพแวดล้อมไม่ถูกวิธีจะส่งผลให้ผลผลิตทั้งหมดเสียหายได้

สหกรณ์ฯ จึงได้ปฏิรูปการดำเนินการโดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย ใช้ได้ผลและมีมาตรฐานสูง แต่อยู่ในงบประมาณที่คุ้มค่าราคาไม่แพงเข้ามาใช้ ภายใต้โครงการ “เกษตรนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงพืชผักปลอดสารพิษ เห็ดนางฟ้า” แบบโรงเรือนอัจฉริยะ Smart Link ช่วยเหลือสมาชิกเกษตรกร โดยได้สองพันธมิตรที่มีศักยภาพและความพร้อมมารับหน้าที่วางระบบและบริหารจัดการฟาร์มเห็ดทั้งโครงการซึ่งปัจจุบันมีโรงเรือนเพาะเห็ดทั้งสิ้น 32 โรงเรือน”

3 พันธมิตรดึง IoT พลิกโฉมเกษตรชุมชนสู่ Smart Farming ก้าวไกลสู่ครัวโลก

นายธรรมนูญ กรเพชรพงศ์ Chief Lead Sales and Marketing บริษัท พี.ที.เอ็น.อินโนเวชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่เห็นถึงความสำคัญของการสนับสนุนให้ระบบเศรษฐกิจชุมชนขับเคลื่อนได้ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จึงได้ร่วมสนับสนุนโครงการฯ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการให้บริการ Smart IOT ทั้ง Home Solutions และ Business Solutions บริษัทได้สนับสนุนอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นแบบอัตโนมัติบนโครงข่ายสัญญาณระดับโลกซิกฟอกส์ (Sigfox) พร้อมด้วยแท็บเล็ตเคลื่อนที่แสดงผลค่าต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชันได้แบบทันทีทันใด (Realtime) ผ่านบริการเช่าใช้ พร้อมทำหน้าที่ดูแลและบริหารจัดการสมาร์ทฟาร์มทั้งโครงการ

3 พันธมิตรดึง IoT พลิกโฉมเกษตรชุมชนสู่ Smart Farming ก้าวไกลสู่ครัวโลก

ขณะที่อีกหนึ่งพันธมิตรอย่าง บริษัท ติงส์ ออน เน็ต จำกัด (THINGS ON NET CO., LTD.) ผู้นำด้านบริการโซลูชันไอโอทีครบวงจร ด้วยโครงข่ายเทคโนโลยีสื่อสารระดับโลก นำโดย นายปวิณ วรพฤกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รับบทบาทสำคัญในการวางระบบและติดตั้งโซลูชัน แพลตฟอร์ม และอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นอัจฉริยะ ที่สั่งการบนโครงข่ายสัญญาณระดับโลกซิกฟอกส์ให้กับทั้ง 32 โรงเรือน ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน IoT มีโครงข่ายสัญญาณครอบคลุมระดับโลก และมีโซลูชัน แพลตฟอร์ม และอุปกรณ์ครบวงจรที่สามารถปรับใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรม และเป็นผู้ถือสิทธิ์การให้บริการโครงข่ายซิกฟอกส์แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

3 พันธมิตรดึง IoT พลิกโฉมเกษตรชุมชนสู่ Smart Farming ก้าวไกลสู่ครัวโลก

“อุณหภูมิและความชื้น เป็นตัวแปรหลักของภาคเกษตรกรรม และการเปลี่ยนแปลงของสองปัจจัยนี้เป็นสาเหตุใหญ่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลต่อพืชผล ติงส์ ออน เน็ต จึงวางระบบโซลูชัน IoT Environmental Monitoring Solution: Temperature & Humidity และติดตั้งเซ็นเซอร์อัจฉริยะให้กับฟาร์มเห็ดของสหกรณ์ฯ เพื่อให้สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตรวจวัดและบันทึกข้อมูลอุณหภูมิและความชื้นได้อย่างอิสระทุกที่ทุกเวลาและในทุกขั้นตอนการเพาะเห็ด พร้อมระบบแจ้งเตือนเมื่อเกิดความผิดปกติอย่างทันท่วงที และจัดเก็บข้อมูลต่างๆ อย่างเป็นระบบ ปลอดภัย ผ่านการแสดงผลบนแท็บเล็ตที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับพัฒนาการเพาะเลี้ยงเห็ดต่อไปได้”

IoT โซลูชันและเซ็นเซอร์อัจฉริยะสำหรับตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้น ไม่เพียงมีคุณสมบัติที่โดดเด่นเรื่องประสิทธิภาพและความแม่นยำ ซึ่งสามารถตรวจวัดและควบคุมอุณหภูมิได้ตั้งแต่ -40 องศา ถึง 125 องศา และตรวจวัดความชื้นได้ตั้งแต่ระดับ 0 – 100% แต่ยังถูกออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัด สะดวกต่อการใช้งาน ติดตั้งง่าย ไม่ต้องเดินระบบสายไฟ อีกทั้งใช้พลังงานต่ำ แบตเตอรี่สามารถชาร์จซ้ำได้ อายุการใช้งานยาวนานถึง 5 ปี จึงช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรชุมชน และลดความเสี่ยงการเสียหายของพืชผลจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความชื้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ระบบโรงเรือนแบบ Smart Link ช่วยยกระดับการบริหารจัดการฟาร์มเห็ดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มความสะดวกในการดูแลโรงเรือนของผู้เพาะเลี้ยง ใช้กำลังคนเพียง 8 คน ดูแลโรงเรือนเพาะเห็ดทั้งหมด 32 โรงเรือน โดย 1 คน สามารถบริหารจัดการ 4 โรงเรือนพร้อมกัน ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมโรงเรือน การเพาะ ไปจนถึงขั้นตอนการเกิดดอกและเก็บเกี่ยวดอกเห็ด จากเดิมที่ต้องใช้กำลังคนจำนวนมากดูแลเห็ดในโรงเรือนทุกครึ่งชั่วโมง และจดบันทึกด้วยมือ ระบบโซลูชัน IoT ยังช่วยลดความเสี่ยงการเสียหายของเห็ดจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความชื้น เพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิต เป็นการขยายโอกาส สร้างรายได้และผลกำไรจากตลาดระดับประเทศสู่ตลาดต่างประเทศได้ การผนึกกำลังร่วมพลิกโฉมโรงเรือนเพาะเห็ดเกษตรชุมชนสู่ฟาร์มเห็ดเกษตรอัจฉริยะครั้งนี้ จึงนับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนภาคเกษตรไทยสู่ยุค IoT ปูพรมเกษตรอัจฉริยะประเทศไทยก้าวไกลสู่ครัวโลก