โดยเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 64 ที่ผ่านมา ภายหลังราชกิจจานุเบกษาประกาศกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ และ ราคาค่าโดยสาร “รถส่วนบุคคล” จดทะเบียนเป็น “แท็กซี่” บริการผ่านแอปพลิเคชัน ได้คนละหนึ่งคัน
ใครได้ประโยชน์แอปเรียกรถถูก กม.
ภายหลังจากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ นั้นก่อให้เกิดประโยชน์หลายฝ่าย ทั้งตัวผู้โดยสารเองที่เคยประสบปัญหาแท็กซี่ปฎิเสธผู้โดยสาร มีทางเลือกใช้บริการผ่านแอปที่ระบุเวลาแน่นอน มีราคาแสดงโปร่งใสให้รู้ก่อนเดินทางและยังสามารถเลือกวิธีการชำระเงินได้ตามความสะดวก ไม่ว่าจะด้วยเงินสดหรือตัดบัญชีผ่านแอปพลิเคชันได้เลย ที่สำคัญคือ มาตรฐานด้านความปลอดภัย เพราะมีระบบติดตามการเดินทางแบบเรียลไทม์ มีฐานข้อมูลของคนขับที่สามารถตรวจสอบได้หากมีเหตุฉุกเฉิน และมีระบบร้องเรียนหรือระบบให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา
ส่วนผู้ขับขี่ ก็จะสามารถหารายได้เสริมและสร้างประโยชน์จากทรัพย์สินอย่างรถยนต์ที่มีอยู่เพื่อก่อให้เกิดรายได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องโดนดำเนินคดีทางกฎหมายเหมือนที่ผ่านมา ขณะที่แพลตฟอร์มหรือผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน ถือเป็นโอกาสในการพัฒนาและขยายธุรกิจได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเมื่อเปิดให้มีการแข่งอย่างเสรี ย่อมส่งผลให้เกิดการยกระดับของทั้งอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการพัฒนามากขึ้น ทั้งในด้านมาตรฐานการบริการที่ดียิ่งขึ้น ราคาในการให้บริการที่สมเหตุสมผล ซึ่งผู้ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดก็คือผู้บริโภคนั่นเอง
สำหรับกลุ่มคนขับรถแท็กซี่ ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจว่าบริการเหล่านี้จะมาแย่งอาชีพหรือแย่งผู้โดยสาร แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาครัฐพยายามสร้างความสมดุลเพื่อให้อุตสาหกรรมบริการเดินทางขนส่งสาธารณะเกิดการพัฒนาและเดินหน้าได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยช่วยแก้ปัญหาให้กับกลุ่มคนขับรถแท็กซี่ในหลายมิติ เช่น การขยายอายุรถแท็กซี่จาก 9 เป็น 12 ปี การลดภาระต้นทุนติดตั้งอุปกรณ์ส่วนตัวโดยสนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันเข้ามาแทนที่ ปัจจุบัน คนขับแท็กซี่หลายหมื่นรายหันมาหารายได้จากการรับงานผ่านแอปเรียกรถเหล่านี้อยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสในการหารายได้ได้สองช่องทาง ทั้งจากการรับงานแบบดั้งเดิมที่ผู้โดยสารโบกเรียกตามท้องถนน และการรับผู้โดยสารจากแอปเรียกรถที่จะช่วยประหยัดเวลาในการวนหาลูกค้า
แกร็บแนะตั้งค่าบริการสูงกว่าแท็กซี่
นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการบริหาร แกร็บ ประเทศไทย หนึ่งในแพลตฟอร์มผู้ให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่ากฎกระทรวงฯ ดังกล่าวได้ถูกประกาศอย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ไม่เพียงเพราะบริการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้บริการ ทั้งในด้านความสะดวกสบาย ความโปร่งใสในด้านการแสดงราคาค่าบริการล่วงหน้าก่อนการเดินทาง รวมไปถึงมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการใช้บริการเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนไทยสามารถหารายได้เสริมและสร้างประโยชน์จากทรัพย์สินอย่างรถยนต์ที่มีอยู่เพื่อก่อให้เกิดรายได้เสริมด้วย
อย่างไรก็ดี บริษัทฯ คาดหวังว่าภาครัฐจะดำเนินการในขั้นตอนต่อๆ ไปโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและสนับสนุนคนขับหรือประชาชนที่สนใจหารายได้เสริมผ่านแอปพลิเคชัน โดยเฉพาะใน 2 ประเด็นหลัก นั่นคือ 1) สนับสนุนให้มีการกำหนดราคาค่าโดยสารสำหรับบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันมีอัตราที่สูงกว่าค่าบริการรถแท็กซี่มิเตอร์ เพื่อสร้างความแตกต่างในการให้บริการจากผู้ให้บริการรถแท็กซี่แบบดั้งเดิม โดยสามารถใช้รูปแบบของการกำหนดราคาแบบพลวัต (Dynamic Pricing) และสามารถปรับราคาขึ้นในช่วงเวลาพิเศษ (Surge Pricing) ได้ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นเป็นไปตามกลไกอุปสงค์อุปทานของตลาด และ 2) พิจารณาวางแผนการจัดการและเวลาในการลงทะเบียนคนขับด้วยความยืดหยุ่น โดยคำนึงถึงจำนวนคนขับ-ผู้ที่สนใจสมัคร และความต่อเนื่องของการให้บริการเป็นสำคัญ
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,693 หน้า 8 วันที่ 4 - 7 กรกฎาคม 2564