นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน “การจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม” ซึ่งจัดขึ้นที่ จ.เชียงราย โดยเป็นการกล่าวเปิดงานผ่านระบบ Conference แสดงความขอบคุณผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย คณะผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลฯ รวมทั้งหน่วยงานในสังกัด บุคลากรทางการแพทย์และการศึกษา ผู้แทนภาคเอกชน ภาคประชาชน และสื่อมวลชน ซึ่งเป็นเครือข่ายสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม
ทั้งนี้ จากผลกระทบของปัญหาข่าวปลอม/ข่าวบิดเบือน (เฟคนิวส์) ที่มีต่อชีวิต ทรัพย์สิน ความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้ง 3 ระลอก ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดการข่าวปลอม เพื่อลดความตื่นตระหนกของประชาชน ประสานงานตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อช่วยให้ประชาชนรับรู้ว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม และในการแชร์ต่อข่าวปลอมทางโซเชียล อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์
อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ยังได้มีข้อสั่งการให้มีการชี้แจงข้อเท็จจริง ให้ประชาชนรับทราบอย่างรวดเร็วกรณีปัญหาข่าวปลอม/บิดเบือน ในสื่อต่างๆ รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ ให้ทุกกระทรวงเตรียมดำเนินการเรื่องศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม อาจทำในรูปแบบของกระบวนการทำงานที่สนับสนุนการดำเนินการต่อต้านข่าวปลอม และประสานงานกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ของดีอีเอส และทุกจังหวัดอาจต้องเตรียมพร้อมในการจัดให้มีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมจังหวัด เพื่อตรวจสอบข่าวปลอม ข่าวบิดเบือนที่เกี่ยวข้อง และชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า จากการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึกโดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ย้อนหลังไปช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (1 ต.ค. 63 - 30 มิ.ย.64) พบข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการเผยแพร่ข่าวปลอมของคนไทยว่า มีจำนวนผู้โพสต์ข่าวปลอม 587,039 คน และจำนวนผู้แชร์ข่าวปลอม 20,294,635 คน ขณะที่ กลุ่มที่มีพฤติกรรมดังกล่าวมากกว่า 90% อยู่ในช่วงอายุ 18-34 ปี
โดยจากการรับแจ้งเบาะแส และติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งหมด 145,515,605 ข้อความ ข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์ดำเนินการตรวจสอบ 13,165 ข้อความ และพบข้อความข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 5,010 เรื่อง
“ประชาชนต้องตระหนักว่า ในการแชร์ต่อข่าวปลอมทางโซเชียล อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีการประกาศใช้ในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ขณะนี้ ซึ่งการดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำความผิด เป็นอีกหนึ่งมิติที่กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เราจึงห่วงใยประชาชนทุกท่านให้รู้เท่าทันภัยจากข่าวปลอม ไม่ตกเป็นเหยื่อ” นายชัยวุฒิกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง กับการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันจากการหลงเชื่อข่าวปลอมข่าวลวง ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม ถือเป็นหนี่งในภารกิจหลักกระทรวงฯ ในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีที่ปลอดภัยแก่ประชาชนและสังคม เน้นความรับผิดชอบต่อสังคมในการเผยแพร่และการแชร์ส่งต่อหรือแบ่งปันข้อมูล ตลอดจนจะผลักดันให้เกิดการบรรจุเป็นหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อในโรงเรียน ในการรู้เท่าทันในข่าวปลอมอย่างมีวิจารณญาณ ไตร่ตรองก่อนการแชร์ต่อ