เร่งติด‘เทเลเมดิซีน’รพ.รัฐ 300 แห่ง ดูแลคนไข้โควิด Home Isolation

22 ก.ค. 2564 | 07:41 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2564 | 14:50 น.

โรงพยาบาลรัฐ แห่ใช้เทเลเมดิซีน ดูแลคนไข้โควิดใน Home Isolation/ Community Isolation พรีซีชันไดเอทซ์ ตั้งเป้าติดตั้งระบบ Dietz โรงพยาบาลรัฐใช้ฟรี 300 แห่งภายในปีนี้ หลังติดตั้งแล้วมากกว่า 50 แห่งดูแลผู้ป่วย 10,000 คนต่อวัน

 นายพงษ์ชัย เพชรสังหาร กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท พรีซีชันไดเอทซ์ จำกัด (Dietz.asia) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภายหลังเปิดให้โรงพยาบาลรัฐ ใช้งาน Dietz Covid Tracker Telemedicine ระบบจะช่วยแพทย์และพยาบาลในการจัดการข้อมูลคนไข้โควิดใน Home Isolation/ Community Isolation ลดความซ้ำซ้อนของงาน ลดความเสี่ยงให้บุคลากรโดยการพูดคุยกับสื่อสารคนไข้ด้วยแชทกับวีดีโอคอล โดยไม่มีค่าใช้จ่าย บริษัทได้รับการติดต่อจากโรงพยาบาลรัฐเข้ามาหลายแห่ง ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการติดตั้ง และให้บริการระบบดังกล่าวกับโรงพยาบาลไปแล้วมากกว่า 50 แห่ง มีปริมาณคนไข้โควิดเข้ามาใช้บริการวันละ 10,000 คนต่อวัน

 “ที่ผ่านมาการติดตามคนไข้โควิดนั้นพยาบาลจะต้องโทรศัพท์ เพื่อติดตามอาการคนไข้ ซึ่งพยาบาล 1 คน สามารถดูแลคนไข้ได้ประมาณ 30 คนต่อวัน โดยต้องมานั่งกรอกฟอร์มปรอท จดอุณหภูมิ ความดัน ออกซิเจนในเลือด ด้วยมือทุกๆวันๆละ 2 ครั้ง และกรอกข้อมูล Nurse Note สอบถามอาการคนไข้ แล้วมาจดด้วยมือลงกระดาษ แล้วมาพิมพ์ลงคอม หากติดต่อคนไข้ไม่ได้

ต้องให้เจ้าหน้าที่อนามัยออกไปเก็บข้อมูลคนไข้วันละ 2 ครั้ง เพื่อนำมาบันทึกเข้าระบบ แต่หลังจากที่โรงพยาบาลมาใช้ Dietz Covid Tracker Telemedicine พยาบาล 1 คนสามารถดูแลติดตามอาการคนไข้ได้ 300 คน โดยไซส์ที่มีขนาดใหญ่สุดตอนนี้รองรับคนไข้ได้วันละถึง 3,000 คน ซึ่งการใช้งานระบบดังกล่าวนั้นคนไข้วัดอุณหภูมิ ความดันและบันทึกข้อมูลได้เอง”

ทั้งนี้เดิมระบบดังกล่าวพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ติดตามอาการผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน แต่หลังการแพร่ระบาดโควิดเมื่อปีที่แล้วได้ปรับมาใช้เพื่อติดตามคนไข้โควิด พื้นที่กักกันทางเลือกระดับประเทศ หรือ ANSQ สำหรับชาวต่างชาติและชาวไทย หลังจากนั้นต้นปี 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดลดลง จนเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาโควิดกลับมาแพร่ระบาดหนักอีกครั้ง บริษัทจึงมองว่าการนำระบบดังกล่าวมาให้โรงพยาบาลรัฐ ใช้ดูแลคนไข้โควิดใน Home Isolation/ Community Isolation นั้นสามารถลดภาระและความเสี่ยงบุคลากรทางการแพทย์ได้

เร่งติด‘เทเลเมดิซีน’รพ.รัฐ 300 แห่ง ดูแลคนไข้โควิด Home Isolation

นายพงษ์ชัย กล่าวต่อไปอีกว่าบริษัทขอเชิญชวนโรงพยาบาลรัฐที่มีอยู่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ โรงพยาบาลชุมชน ที่มีอยู่ประมาณ 700 แห่ง เข้ามาใช้ระบบดังกล่าวในการดูแลคนไข้โควิด ซึ่งทีมงานบริษัทมีความความสามารถการติดตั้งระบบให้กับโรงพยาบาลประมาณ 5-6 แห่งต่อวัน โดยการติดตั้งระบบใช้เวลา 1 วัน สามารถใช้งานได้ทันที ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลบางแห่งกำลังมองการนำไปใช้ดูแลคนไข้ในหอผู้ป่วยใน และโรงพยาบาลสนาม เพื่อลดภาระ และความเสี่ยงบุคลากรทางการแพทย์ อย่างไรก็ตามคาดว่าภายในปีนี้จะสามารถดำเนินการติดตั้งระบบดังกล่าวให้กับโรงพยาบาลรัฐได้ 300 แห่ง

 ทั้งนี้จากการเก็บข้อมูลการทำงานของระบบนั้นไม่พบว่ามีปัญหาเกิดแต่อย่างใด โดยระบบดังกล่าวทำงานบนคลาวด์ของอเมซอนเว็บเซอร์วิส ที่รองรับการใช้งานได้ไม่จำกัด ตามปริมาณการใช้งานของผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้น และมีความปลอดภัยสูง นอกจากนี้ Dietz Covid Tracker Telemedicine เป็นระบบแรกและคาดว่าเป็นระบบเดียว ที่สามารถพิมพ์แบบฟอร์มปรอท และ Nurse Note ตามมาตรฐาน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. และกรมบัญชีกลาง เพื่อทำการเบิกจ่ายได้ อย่างไรก็ตามปัญหาหลักที่พบขณะนี้คือ ผู้ใช้งานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญการใช้งานดิจิทัลไม่เท่ากัน ซึ่งในส่วนของโรงพยาบาลนั้นบริษัทจะส่งคลิปสอนการใช้งานและ คู่มือ ให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรไอทีของโรงพยาบาล หากยังไม่สามารถใช้งานระบบได้ ก็จะมีออนไลน์เทรนนิ่งให้กับโรงพยาบาล ส่วนฝั่งคนไข้นั้นจะให้พยาบาลเป็นผู้ทำการแนะนำการใช้งาน

 

นายพงษ์ชัย กล่าวต่อไปอีกว่าบริษัทเปิดให้โรงพยาบาลรัฐเข้ามาใช้บริการฟรี ส่วนโรงพยาบาลเอกชนนั้นคิดค่าบริการอยู่ที่ 50,000-100,000 บาท ซึ่งบริษัทจะนำรายได้จากการให้บริการซอฟท์แวร์เอกชนมาใช้อุดหนุนการให้บริการฟรีกับทางโรงพยาบาลภาครัฐ นอกจากนี้ยังคาดว่าว่าภายหลังจากโควิดโรงพยาบาลรัฐ จะปรับมาใช้เป็นระบบเทเลเมดิซีน เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคทั่วไปในอนาคต