บริษัท จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด (มหาชน) ประกาศงบไตรมาสที่ 2 ปี 2564 มีรายได้จาก บริษัทฯ และบริษัทย่อยเพิ่มขึ้น 318.21 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 396.35 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 1,157.90 หลังเข้าดำเนินการซื้อหุ้นใน บริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จำกัด (“JASTEL”) ในอัตราร้อยละ 99.99 ซึ่งได้ดำเนินการซื้อหุ้นแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564
โดยผลการดําเนินงานไตรมาสที่ 2 ปี 2564 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกําไรสุทธิ 37.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.47 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 321.69 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 27.09 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 264.81 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2564
บริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จํากัด (มหาชน) จะเป็นชื่อบริษัทใหม่ที่จะมาแทนชื่อเดิม บริษัท จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะธุรกิจขององค์กรในปัจจุบัน ซึ่งบริษัทได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทไปแล้วเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมเข้าที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 8 ตุลาคม 2564
จากการระบาดของ Covid-19 ระลอกใหม่ที่ยังมีความไม่แน่นอน และส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ทางบริษัทจึงมองหาธุรกิจใหม่ที่จะลงทุนในระยะยาว และยังสามารถสร้างรายได้ใหม่ให้แก่บริษัท ถึงแม้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบโดยตรงกับบริษัทก็ตาม
ทั้งนี้บริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย จะดำเนินการลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ โดยมีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 156.7 ล้านบาท โดยได้มีการทยอยสั่งซื้อเครื่องขุดบิตคอยน์ และจะติดตั้งให้แล้วเสร็จจำนวน 500 เครื่องภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ซึ่งทางบริษัทได้ศึกษาเรื่อง Bitcoin มาระยะหนึ่งแล้ว ตอนนี้มองเป็นจังหวะและโอกาสที่ดี บิตคอยน์ที่ขุดได้จะนำมาจำหน่ายบางส่วน และเก็บไว้บางส่วน โดยบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจนี้อย่างต่อเนื่อง
บริษัทยังเตรียมพร้อมขยายเฟสที่ 2 เพื่อเสริมกำลังการขุดอีก 5,000 เครื่องในต้นปี 65 เล็งใช้พื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมด้วยความพร้อมของสถานที่ และโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า โดยตั้งเป้าขยายกำลังการขุดเป็น 50,000 เครื่อง ก่อน Bitcoin Next Halving ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปี 67 ทำให้บริษัทมีกำลังการขุดรวมมากกว่า 5 Exahash/s หรือคิดเป็นประมาณ 5% ของกำลังการขุดรวมทั่วโลก และเป็นศูนย์กลางของ Bitcoin Mining Farm ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในส่วนของประเด็นทางด้านผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมนั้น การขุดบิตคอยน์ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด พลังงานหลักที่ใช้ในการขุดบิตคอยน์คือพลังงานไฟฟ้า ซึ่งบริษัทฯใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากหน่วยงานของรัฐ ที่ได้รับการรับรองด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน ISO 14001 โดยขณะนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาในการนำพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานจากโซลาร์เซลล์ และพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ มาใช้ทดแทน ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนและรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วยพร้อมกัน