ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ดีป้า เล็งเห็นความสำคัญของพืชเศรษฐกิจอย่าง ทุเรียน จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนกว่า 300 คนประยุกต์ใช้แอพพลิเคชัน Kasettrack ที่ได้รับการพัฒนาโดย บริษัท วีเดฟซอฟท์ จำกัด ดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทย หนึ่งในผู้บริการดิจิทัล (Digital Provider) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับ ดีป้า ซึ่งดีป้าได้ส่งเสริมให้เกษตรกรได้เข้าถึงบริการผ่านโครงการส่งเสริมและสนับสนุนคูปองดิจิทัล (mini Transformation Voucher) โดยที่เกษตรกรได้เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมได้เองและดีป้าจะช่วยสนับสนุนเป็นค่าเช่าหรือซื้อบริการดิจิทัล เพื่อกระตุ้นให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในทางหนึ่ง ซึ่ง Kasettrack ถือเป็นบริการดิจิทัลในรูปแบบโมบายแอพพลิเคชันที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นผู้ช่วยเกษตรกรในการวางแผนการผลิตให้ได้ตามข้อกำหนดมาตรฐาน GAP เชื่อมโยงตลาดกับแหล่งผลิต โดยปัจจุบันมีเกษตรกรที่ผลิตพืชผักผลไม้ในจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ยะลา นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ นครปฐม จันทบุรี สกลนคร สระบุรี ฯลฯ ใช้งาน Kasettrack แล้วกว่า 1,700 คน
“ทุเรียนนับเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ซึ่งไทยคือผู้ส่งออกทุเรียนสดอันดับ 1 ของโลก โดยการส่งออกทุเรียนสดของไทยในช่วงที่ผ่านมาของปี 2564 มีมูลค่าประมาณ 2,800-2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นยอดส่งออกที่สูงที่สุดครั้งใหม่จากที่เคยทำไว้ในปีที่ผ่านมาจนทุเรียนกลายเป็นสินค้าเศรษฐกิจตัวใหม่รองจากยางพารา และแซงหน้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และหากนับเฉพาะการส่งออกในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทุเรียนสดของไทยสามารถสร้างมูลค่าการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 934.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการส่งออกไปยังประเทศจีนมีอัตราการเติบโตสูงถึง 130.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน”
ด้านนางสาวเจียวหลิง พาน กรรมการผู้จัดการบริษัท รอยัล ฟาร์ม กรุ๊ปจำกัด (Thailand) ผู้ส่งออกทุเรียนไทยไปจีน รองนายกสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ ฝ่ายต่างประเทศ และกรรมการสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด กล่าวว่า ผู้บริโภคชาวจีนรู้จักชื่อเสียงของทุเรียนไทย และให้การตอบรับเป็นอย่างดี โดยหมอนทองยังคงได้รับความนิยมมากที่สุด และตามมาด้วยพันธุ์อื่น ๆ ขณะที่ผู้บริโภครุ่นใหม่จะนิยมทุเรียนเกรดพรีเมียม และสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น โดย Kasettrack นอกจากจะช่วยเชื่อมโยงผู้ซื้อกับเกษตรกรที่ผลิตทุเรียนคุณภาพเข้าหากันแล้ว ยังช่วยให้ผู้บริโภคสามารถรับรู้แหล่งที่ปลูก เพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นใจในคุณภาพและคุณค่าของทุเรียนไทยอีกด้วย
ดร. เมธินี ศรีวัฒนกุล เลขานุการเครือข่ายเกษตรและอาหารปลอดภัย (GAP Net) กล่าวว่า ทุเรียนที่ส่งออกไปยังประเทศจีนได้ ต้องเป็นไปตามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช โดยทุเรียนต้องมาจากแปลงที่ผ่านการขึ้นทะเบียนรับรองมาตรฐาน GAP ซึ่งสมาคมและองค์กรต่าง ๆ ในภาควิชาการ รวมถึงห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ได้บูรณาการการทำงานร่วมกัน ตลอดจนเชื่อมโยงกับองค์กรภาครัฐ พร้อมเห็นถึงประโยชน์ของ Kasettrack ที่สามารถช่วยเชื่อมโยงห่วงโซ่ ทำให้เกษตรกรจดบันทึกได้อย่างเป็นระบบ มีการบันทึกภาพถ่ายแหล่งน้ำ พื้นที่ปลูก วิธีจัดการแปลง คาดการณ์ผลผลิต ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบคุณภาพภายในกลุ่ม และสนับสนุนการตรวจประเมินแบบเสมือนจริงแทนการเดินทางไปตรวจ ณ แปลงเกษตรกร ทำให้สามารถประเมิน ให้คำปรึกษาวิชาการในการปฏิบัติอย่างถูกต้อง และออกใบรับรองมาตรฐาน GAP แก่เกษตรกรได้รวดเร็วขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อตรวจประเมิน อีกทั้งช่วยป้องกันการนำเลขทะเบียน GAP ของเกษตรกรคุณภาพไปใช้ และลดการสวมสิทธิ์ใบรับรองมาตรฐาน GAP