นายกสมาคมฟินเทคคนใหม่ ลั่น 2 ปี ดันไทยสู่ Top 5 ฟินเทคฮับในเอเชีย

13 ก.ย. 2564 | 07:47 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2564 | 15:00 น.

เผยวิสัยทัศน์ “นึก ชลเดช เขมะรัตนา” นายกสมาคมฟินเทคคนใหม่ ตั้งเป้าดันประเทศไทย สู่ Top 5 ฟินเทคฮับในเอเชีย ภายใน 2 ปี

ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว สำหรับนายกสมาคมฟินเทค ประเทศไทย ไม่ผิดโผทุกคนต่างเทคะแนนให้กับ คุณนึก-ชลเดช เขมะรัตนา และ ทีมบอร์ดบริหารสุดแข็งแกร่ง ที่แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญในด้าน Fintech ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น ท๊อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ที่มีความถนัดเรื่อง Digital Asset  มิล-อมฤต ฟรานเซน ที่ทำงานด้าน Insurtech มาหลายปี  โย่-ภคมน ตุลยาพิศิษฐ์ชัย ที่ปัจจุบันได้คลุกคลีอยู่ในวงการ Lending และสุดท้าย คุณเอก-เอกสิทธิ์ เดี่ยววณิชย์ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้าน Crowdfunding โดยทางนายชลเดช ผู้สวมหมวกนายกสมาคมคนใหม่ล่าสุดนั้น ปัจจุบันเป็นผู้บริหารในบริษัท Wealth Tech ชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกยอมรับจากทั้งวงการฟินเทค และแวดวงตลาดทุนในบ้านเรามากที่สุดคนนึง

นายกสมาคมฟินเทคคนใหม่ ลั่น 2 ปี ดันไทยสู่ Top 5 ฟินเทคฮับในเอเชีย

นายชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย (TFA) คนใหม่ เผยวิสัยทัศน์ว่าต้องการการผลักดันสมาคมฟินเทคประเทศไทย ให้เป็นศูนย์รวมของผู้มีส่วนได้เสียทุกหน่วยงานเพื่อร่วมกันใช้ฟินเทคพัฒนาอุตสาหกรรมการเงินอย่างยั่งยืน ทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ โดยผู้ที่มีส่วนได้เสียไม่ได้มีแค่เฉพาะสตาร์ทอัพอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงธนาคาร บล. บลจ. บริษัทประกัน หรือผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศ หน่วยงานกำกับดูแล และประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นผู้ใช้บริการ

นายกสมาคมฟินเทคคนใหม่ ลั่น 2 ปี ดันไทยสู่ Top 5 ฟินเทคฮับในเอเชีย

“เราต้องปรับภาพลักษณ์ให้สมาคมเข้าถึงได้ง่าย เป็นสมาคมของทุกคน ทั้งคนไทยและต่างประเทศที่เข้ามาตั้งธุรกิจในประเทศไทย โดยสมาคมฟินเทคประเทศไทยได้เริ่มติดต่อกับสมาคมฟินเทคในต่างประเทศแล้ว ซึ่งเริ่มจากการหาความร่วมมือกับประเทศที่เป็น Global Fintech Hub ก่อน เช่น อังกฤษ จีน สิงคโปร์ เป็นต้น นอกจากนี้ สมาคมฟินเทคยังได้ Rebranding โดยการเปลี่ยนโลโก้ให้มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเรียกสมาคมภาษาอังกฤษเป็น TFA ย่อมาจาก Thai Fintech Association

ความท้าทายแรก คือ ต้องปรับโครงสร้างการทำงานใหม่ทั้งหมดให้สำเร็จโดยไว โดย TFA แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน คือ 52 สัปดาห์แรก และ 52 สัปดาห์หลัง ในส่วนแรกจะเน้นขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งวางโครงสร้างพื้นฐานให้แข็งแรง การมี Networking ที่ดีจะช่วยให้ผู้ประกอบการด้านฟินเทคเข้ามาพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้ในหลายแง่มุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวกับระเบียบและกฎเกณฑ์ทางการ เพราะประเทศไทยมีหน่วยงานกำกับดูแลหลายหน่วยงาน

ดังนั้น TFA จึงมีความตั้งใจที่จะช่วยประสานงานกับผู้ประกอบการฟินเทคและหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มการประชุมเป็นประจำทุกเดือนกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน กลต. และสำนักงาน คปภ. เพื่อวางแผนและทำงานร่วมกันในการพัฒนาวงการฟินเทคในประเทศไทย โครงสร้างพื้นฐานที่ TFA อยากผลักดันให้เกิดขึ้นคือ API Exchange  โดยการอาสาเป็นเจ้าภาพในการพัฒนา Market Place สำหรับเผยแพร่และแลกเปลี่ยน API เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาบริการด้านฟินเทคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่จำเป็นต้องทำงานซ้ำซ้อนกัน ใครทำเรื่องอะไรได้ดีก็ให้ทำออกมาในรูปแบบ API ให้หน่วยงานอื่นสามารถนำไปใช้ต่อได้แล้วค่อยมาแบ่งรายได้หรือจ่ายค่าบริการตามการใช้งานจริง ซึ่งในปัจจุบันมีหน่วยงานที่ทำเรื่อง Open API ได้ดีอยู่แล้ว TFA จึงสามารถร่วมงานกับหน่วยงานดังกล่าวเพื่อกำหนดรูปแบบให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และวาง API Roadmap สำหรับการขยายฐานผู้ใช้งาน API Exchange ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเชื่อมต่อกับ API Exchange อื่นที่มีอยู่ในต่างประเทศ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเปิดตลาดไปยังต่างประเทศได้ และให้ผู้ประกอบการต่างประเทศมาลงทุนทำธุรกิจด้านฟินเทคในประเทศไทยได้เช่นกัน

ใน 52 สัปดาห์หลังจะเป็นการต่อยอดจากในส่วนแรก ด้วยการสร้างความร่วมมือกับสตาร์ทอัพ และสถาบันการเงิน ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมใช้ Networking ทั้งหมดที่หามาสร้างให้อุตสาหกรรมฟินเทคในประเทศไทยสามารถอยู่ได้แบบยั่งยืน  ซึ่งการทำให้ยั่งยืนนั้นเราต้องเริ่มตั้งแต่รากฐานก็คือการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ Fintech ให้แก่คนในประเทศ แต่ในไทยเรายังขาดช่องทางที่หาความรู้เกี่ยวกับเรื่องฟินเทคและการเงินการลงทุนทั่วไป หรือหากมีข้อมูลดังกล่าวก็อาจจะไม่ครบถ้วน หรือดูยากเกิน ดังนั้น TFA จึงอยากจะช่วยเหลือในส่วนนี้ โดยการทำให้ผู้บริโภคเข้าใจฟินเทคมากขึ้น และรู้ว่าตนเองกำลังจะใช้บริการทางการเงินอะไร มีวิธีการและขั้นตอนรวมไปถึงความเสี่ยงและผลประโยชน์จากการใช้บริการทางการเงินนั้นๆ อย่างไรบ้าง TFA จึงได้มีการวางแผนจัดทำคอร์สด้านการเงินและฟินเทค โดยวิทยากรจะมาจากผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับ Fintech ทั้งในและต่างประเทศ โดยกรรมการบริหาร TFA ก็จะเป็นวิทยากรเองด้วยเช่นกัน ซึ่งเราจะมีโควตาสำหรับสมาชิกให้สามารถร่วมเรียนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้เรายังวางแผนจัดทำหลักสูตรและให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเงินทั่วไปและฟินเทค ให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งถ้าเราไปสอนเด็กที่เรียนบริหารฝั่งการเงิน และฝั่งเทคโนโลยีให้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการเงิน และ ฟินเทค เราก็จะได้คนรุ่นใหม่ที่เข้าใจสินค้าทางการเงิน มีภูมิคุ้มกันตัวเองมากขึ้น โดนหลอกได้ยาก รู้จักลงทุนตั้งแต่เนิ่นๆ และสามารถกลายเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในวงการฟินเทค ประเทศไทยในอนาคตได้

ส่วนการสร้างแรงดึงดูดความสนใจจาก VC ต่างชาตินั้น ที่ผ่านมานักลงทุนต่างประเทศยังไม่รู้จักฟินเทค ในประเทศไทยมากนัก TFA จึงอยากทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมฟินเทค ประเทศไทยให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ด้วยการจัดงาน Roadshow กับทางต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้ก็ต้องเป็นในรูปแบบออนไลน์ไปก่อน  โดยงานดังกล่าวจะเป็นการแบ่งปันองค์ความรู้ของแต่ละประเทศ และเป็นการทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามารู้จักกับสตาร์ทอัพที่เป็นฟินเทคในไทยมากขึ้น นอกจากนี้เราจะมีการจัดทำ Database บริษัทฟินเทค ในประเทศไทยโดยแบ่งตามกลุ่มธุรกิจและรอบการระดมทุน เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลเบื้องต้นในการเลือกลงทุนกับสตาร์ทอัพในไทยก่อนด้วย

ตั้งเป้าผลักดันประเทศไทย สู่ Top 5 ฟินเทคฮับ ในเอเชีย ภายใน 2 ปี

TFA ต้องการสร้างประโยชน์ให้กับคนไทยทุกคนด้วยการเป็นศูนย์กลางด้านฟินเทค เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงและเข้าใจบริการด้านฟินเทคอย่างถ่องแท้มากขึ้น พร้อมมุ่งให้ผู้ประกอบการมีช่องทางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเพื่อนๆ ที่อยู่ในวงการฟินเทคได้มีระบบ API ที่มีมาตรฐานให้สามารถนำไปใช้ได้เลยโดยไม่ต้องทำใหม่ขึ้นมาเอง และยังสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ที่เป็น Talent ด้านการเงิน และฟินเทคโดยเฉพาะ รวมไปถึงการได้เข้าถึงนักลงทุนในระดับต่างประเทศ ผ่านตัวกลางอย่าง TFA  โดยเราตั้งเป้าให้ประเทศไทยติดอันดับ Top 5 ฟินเทคฮับในเอเชียภายใน 2 ปี ผ่านแผนกลยุทธ์ทั้งหมดที่กล่าวมาโดยมีผู้ส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมการเงินและฟินเทคเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาฟินเทค ประเทศไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก