นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยถึงผลสำเร็จของการดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการตรวจสอบ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ซึ่งได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสามหน่วยงาน เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 โดยเริ่มจากโครงการนำร่องที่มีชื่อว่า “Artificial Intelligence for Performance Audit” หรือ AI for PA ซึ่งเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยในการวิเคราะห์และสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลงานตรวจสอบการดำเนินงาน (Performance Audit) ซึ่งเป็นลักษณะงานตรวจสอบด้านหนึ่งของ สตง. โดยเป็นการตรวจสอบว่าการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการเกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพียงใด และจัดทำข้อเสนอแนะให้แก่หน่วยรับตรวจในการเพิ่มผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งถือเป็นการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจเงินแผ่นดิน
“AI for PA เป็นโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยในการวิเคราะห์สืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลงานตรวจสอบของ สตง. โดยอาศัยข้อมูลย้อนหลังมากกว่า 20 ปี ซึ่งเป็นเอกสารจำนวนหลายหมื่นฉบับ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่ถูกนำมาใช้งานเป็น AI ทางด้านการประมวลผลภาษาหรือที่เรียกว่า Natural Language Processing โดยเป็นการนำมาประยุกต์ใช้สำหรับการพัฒนาระบบค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูลโดยดูจากบริบทและความเชื่อมโยงของเนื้อหา ซึ่งจากการใช้เทคโนโลยี AI ดังกล่าวจะช่วยทบทวนข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น มองอย่างเป็นแบบแผน เพิ่มความแม่นยำและความรวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูลที่ค้นหา และค้นพบความความสัมพันธ์ระหว่างจุดของข้อมูลที่ถูกมองข้ามไป ความสัมพันธ์ที่จะแนะนำเส้นทางไปสู่การค้นหาในขั้นตอนต่อไป และเป็นเครื่องมือที่ช่วยในกระบวนการเตรียมงานตรวจสอบ และตั้งคำถามการตรวจสอบของ สตง. ให้สะดวกรวดเร็วและช่วยพัฒนาระบบงานในปัจจุบันและอนาคตให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของ สตง.”
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า ความสำเร็จของการพัฒนาระบบต้นแบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการตรวจสอบถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสนับสนุนการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อการก้าวเป็นรัฐบาลดิจิทัล และสอดคล้องตามแนวทางของแผนงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลประเทศไทย พ.ศ. 2563-2565 ตลอดจนเป็นการตอบสนองต่อนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินที่กำหนดโดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในการส่งเสริมและพัฒนาให้หน่วยงานใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพขององค์กรในภาพรวม ทั้งนี้ ในอนาคต สตง. จะได้นำ AI มาใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ทางการเงินการคลัง โดยเฉพาะการใช้จ่ายเงินงบประมาณ และการจัดซื้อจัดจ้างซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมากได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพต่อไป
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กล่าวเสริมว่า ทีมนักวิจัยทางด้านปัญญาประดิษฐ์ของเนคเทค-สวทช.ที่สะสมประสบการณ์และ องค์ความรู้ด้าน Natural Language Processing เป็นเวลากว่า 20 ปี เราได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานภาครัฐ หรือองค์กรขนาดใหญ่ที่มีข้อมูลสำคัญระดับชาติและมีความละเอียดอ่อน ให้เนคเทค-สวทช. นำเทคโนโลยีสารสนเทศขั้นสูงไปสนับสนุนการทำงาน การดำเนินงานในครั้งนี้ก็เช่นกัน ทีมนักวิจัยได้เข้าไปช่วยพัฒนาระบบและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ต่าง ๆ ทั้งในเชิงข้อมูลและในเชิงพื้นที่ ที่สำคัญที่สุดคือการได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการตรวจสอบจากผู้มีประสบการณ์สูงของ สตง. มาพัฒนาจนเกิดเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์นี้ขึ้นมา ซึ่งมีคุณลักษณะสำคัญของระบบ อาทิ โมเดลข้อมูลเพื่อรองรับข้อมูลเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการดำเนินงาน การค้นหาจากข้อมูลการตรวจสอบ การค้นหาจากข้อมูลคำถาม การค้นหาจากข้อมูลทั้งหมด การค้นหาแบบอิสระ เป็นต้น โดยระบบได้รองรับการใช้งานผ่าน PC Browser และ Mobile Browser ที่เข้าถึง อินเทอร์เน็ต ซึ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่ของ สตง. สามารถทำงานได้สะดวกขึ้น
ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวเสริมว่า ในวันนี้ที่ระบบต้นแบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการตรวจสอบ มีความพร้อมใช้งานแล้ว ถือได้ว่าเป็นก้าวแรกของประเทศไทยในหน่วยงานรัฐที่พัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เป็นแพลตฟอร์มต้นแบบนำมาใช้งานเพื่อการตรวจสอบ และช่วยวิเคราะห์สืบค้นเอกสารจำนวนหลายหมื่นฉบับจากฐานข้อมูลงานตรวจสอบของ สตง. สพร.ได้ร่วมกับ ทีมงานผู้เชี่ยวชาญ สตง. ในการนำเอกสารหลายหมื่นฉบับที่เก็บรวบรวมไว้กว่า 20 ปี มาแปลงข้อมูลจากชุดกระดาษไปสู่ข้อมูลดิจิทัล และนำข้อมูลมาจัดโครงสร้างในรูปแบบที่คอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลได้ (Machine Readable) และเนคเทค ที่มีส่วนสำคัญในการนำชุดข้อมูลที่ผ่านการทำ Digitize Data แล้ว เข้าสู่โมเดลต้นแบบ AI ที่เตรียมไว้ การทำ Digital Transformation เป็นทิศทางแห่งอนาคตของระบบงานราชการยุคใหม่ ที่จะมีความรวดเร็วและคล่องตัวกว่าเดิมด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI ที่มีความแม่นยำสูง มาเป็นเครื่องมือสำคัญในระบบราชการ โดยการนำข้อมูลจำนวนมากหรือข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ให้สามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้กับทุกภาคส่วนและผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยข้อมูลอย่างแท้จริง (Data-Driven) ทั้งนี้ยังสอดคล้องตามแนวทางของแผนงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลประเทศไทย พ.ศ.2563-2565 และภารกิจของ สพร. ที่มุ่งสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนระบบนิเวศของนวัตกรรมด้าน GovTech อย่างเป็นระบบ สามารถส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐเข้าใจในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้งานได้ โดย สพร. จึงจะใช้โอกาสความสำเร็จครั้งนี้ ขยายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ และร่วมกับพันธมิตร อาทิ เนคเทค มหาวิทยาลัย และ ผู้ประกอบการนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศสำหรับนวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐ (GovTech) อย่างเป็นรูปธรรม และต่อเนื่อง ผ่านศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐ หรือ Digital Government Technology and Innovation Center : DGTi เพื่อนำไปสู่นวัตกรรมดิจิทัลสำหรับภาครัฐ และเพื่อให้เกิดต้นแบบนวัตกรรมที่หลากหลายตามความต้องการของหน่วยงานรัฐ เพื่องานบริการประชาชนให้ครอบคลุมในมิติต่างๆ มากขึ้น