จากกรณีที่การแพร่ระบาดของ SMS หลอกลวงส่งเข้ามือถือ หลอกให้ประชาชนกดลิงค์แล้วดูดเงินในบัญชี ,หลอกให้กู้เงิน และ ชักชวนเล่นการพนันออนไลน์ เป็นต้น
ล่าสุดวันนี้ (28 ต.ค. 2564) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับสำนักงาน กสทช. ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้ประกอบการโทรคมนาคม ได้ประชุมหารือเพื่อติดตามและกำกับดูแลกรณีมิจฉาชีพส่งข้อความสั้น (SMS) หลอกลวงประชาชน การชักชวนเล่นพนันออนไลน์ และลามกอนาจาร
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า จากการประชุมติดตามและกำกับดูแลกรณีมิจฉาชีพส่งข้อความสั้น (SMS) หลอกลวงประชาชน การชักชวนเล่นพนันออนไลน์ และลามกอนาจาร ที่ประชุมได้ข้อสรุปที่จะยกระดับมาตรการในการดำเนินการจัดการปัญหา SMS หลอกลวงเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง โดยสำนักงาน กสทช. ได้กำหนดมาตรการเกี่ยวกับเนื้อหาของข้อความ และการกำหนดชื่อ Sender name ซึ่งจะเริ่มจากต้นทางของการส่ง SMS จากผู้ให้บริการเนื้อหา ดังนี้
1.ผู้ให้บริการเนื้อหาต้องมีระบบยืนยันตัวตนของลูกค้าที่มาซื้อ SMS ที่ชัดเจน และตรวจสอบได้
2.ข้อความใน SMS และชื่อ Sender name ต้องไม่ให้ลูกค้ากำหนดเองได้โดยอิสระแต่ต้องแจ้งผ่านผู้ให้บริการทราบก่อน
3.การกำหนด Sender name ต้องไม่มีลักษณะเป็นเลขหมายโทรศัพท์
4.หากชื่อ Sender name ตรงกับ หรือคล้ายกับ ชื่อบริษัท หน่วยงาน หรือเครื่องหมายการค้า ทางผู้ให้บริการสามารถขอเอกสารจากลูกค้าในการรับรอง หรือการได้รับความยินยอมให้ใช้ชื่อจากเจ้าของชื่อบริษัท หน่วยงาน หรือเครื่องหมายทางการค้านั้นๆ ได้
5.ข้อความไม่ควรมี link เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกต่อการกระทำผิด
สำหรับแนวปฏิบัติในการรวบรวมข้อมูล และการดำเนินการกรณีพบข้อความที่ผิดกฎหมาย ในระหว่างที่รอหมายฯ จากตำรวจ สำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการจะดำเนินการระงับการส่งข้อความ (SMS) จาก Sender name นั้นโดยเร็ว และผู้ให้บริการต้องตักเตือนลูกค้าของตนให้ทราบถึงการกระทำที่ผิดกฎหมายดังกล่าว ซึ่งหากยังมีพฤติกรรมเช่นเดิมอีกจะมีมาตรการที่เข้มงวดขึ้น ในกรณีที่เป็นการส่งข้อความ (SMS) ข้ามโครงข่าย ให้ผู้ให้บริการปลายทางแจ้งผู้ให้บริการต้นทางที่ส่ง SMS รับทราบปัญหา โดยให้ผู้บริการต้นทางระงับการส่งภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ประเด็นที่สำนักงาน กสทช. ผู้ประการโทรคมนาคม จะต้องพิจารณาดำเนินการต่อไป ได้แก่
1.แนวทางการจัดทำ White List Sender
2.แนวที่ให้ผู้ส่งข้อความให้ความยินยอมที่จะให้ตรวจข้อความที่ส่ง กรณีมีผู้ร้องเรียน 3.แนวทางการดำเนินการสำหรับข้อความที่เป็นการโฆษณา ทั้งนี้เพื่อให้การแก้ไขปัญหา SMS หลอกลวงสำเร็จได้
นายไตรรัตน์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการลงโทษสำนักงาน กสทช. จะออกคำสั่งทางปกครองกับผู้ให้บริการเนื้อหาที่ไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา SMS หลอกลวง ที่ยังปล่อยให้มี SMS หลอกลวงส่งไปยังประชาชน โดยจะมีคำสั่ง ตักเตือน ปรับ พักใบอนุญาต จนถึงเพิกถอนใบอนุญาต ตามข้อเท็จจริง สำหรับการดำเนินคดีกับมิจฉาชีพ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและชำนาญในเรื่องดังกล่าว จะรับผิดชอบในการดำเนินการเอาผิดและดำเนินคดีกับมิจฉาชีพ สำหรับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ก.ดีอีเอส) จะใช้พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ในการดำเนินการกับมิจฉาชีพที่ทำการส่งข้อความ อีเมล หรือใช้วิธีการใดก็ตาม เพื่อหลอกลวงประชาชนผ่านทางออนไลน์
อย่างไรก็ตามสำนักงานฯ ยังคงขอให้ประชาชนระมัดระวังอย่าหลงเชื่อข้อความจาก SMS โดยง่าย อย่ากรอก Username Password ที่ใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ กับธนาคารในลิงค์ที่ส่งมากับ SMS หรืออย่าให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น บัตรประชาชน ไปกับคนที่โทรมาสอบถามข้อมูลทางโทรศัพท์ง่ายๆ ควรตรวจสอบที่มาของ SMS หรือหน่วยงานที่โทรศัพท์เข้ามาให้แน่ใจก่อน เพื่อระมัดระวังไม่ให้ข้อมูลเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือมิจฉาชีพที่จะเอาข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้ทำธุรกรรม ขโมยเงินของเรา หรือนำไปก่อความเสียหายได้
“ความร่วมมือในครั้งนี้ของสำนักงาน กสทช. ก.ดีอีเอส บช.สอท. และผู้ประกอบการโทรคมนาคมทุกราย ที่มุ่งมั่นในแก้ไขปัญหา SMS และโทรศัพท์หลอกลวง จะทำให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้หากประชาชนประสบปัญหา หรือต้องการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับ SMS และโทรศัพท์หลอกลวง สามารถแจ้งมายัง Call Center สำนักงาน กสทช. หมายเลขโทรศัพท์ 1200 (โทรฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย) หรือแจ้งไปยัง Call Center ของค่ายมือถือที่ท่านใช้บริการอยู่ หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่แต่ละค่ายมีไว้เพื่อรับข้อมูลเรื่อง SMS และโทรศัพท์หลอกลวงโดยเฉพาะ” นายไตรรัตน์ กล่าว.