แนวโน้มการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลรอบปีนี้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามความร้อนแรงของคริปโทสกุลหลักๆ “บิตคอยน์-อีเธอเรียม” สัญญาณการเข้ามาลงทุนของ SCBx ใน Bitkub มูลค่า 1.78 หมื่นล้านบาท โดยให้ SCBS เข้าถือหุ้นสัดส่วน 51% เพื่อต่อจิ๊กซอร์ธุรกิจ “เทคคอมพานี” ให้กับยานแม่ “SCBX” กลายเป็นดีลประวัติศาสตร์ของวงการฟินเทคไทย และทำให้ “Bitkub” กลายเป็นยูนิคอร์นตัวที่ 3 ของวงการสตาร์ทอัพเมืองไทย
ขณะเดียวกันการเข้ามาลงทุนมหาศาลของสถาบันการเงิน ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน และทำให้ธุรกิจศูนย์ให้บริการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโทเคอเรนซี่) ทวีความรุนแรงมากขึ้น
นายปรมินทร์ อินโสม กรรมการและผู้ก่อตั้ง สตางค์ คอร์ปอเรชั่น ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกในไทย Satang Pro (สตางค์โปร) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเข้ามาลงทุนของ SCBx ใน Bitkub ทำให้เกิดการยกระดับ และความน่าเชื่อถือ วงการสินทรัพย์ดิจิทัล และศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล จากดำเนินธุรกิจนี้ถูกขับเคลื่อนโดยสตาร์ทอัพ แต่ขณะนี้มีสถาบันการเงินเข้ามาลงทุน
สำหรับสตางค์โปรนั้นขณะนี้มีการพูดคุยกับนักลงทุนหลากหลาย ทั้งสถาบันการเงิน และไม่ใช่สถาบันการเงิน มีทั้งนักลงทุนไทย และต่างประเทศ ซึ่งด้วยสถานการณ์ปัจจุบันต้องสู้ เพราะเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีการทุ่มงบตลาด หรือ เบิร์นเงินเพื่อดึงลูกค้าเข้ามา ซึ่งเราจำเป็นต้องมีพาร์ทเนอร์เข้ามา อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาธุรกิจยังมีกำไร และยังไม่มีแผนออกผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือลดค่าธรรมเนียมออกมาแข่งขันในขณะนี้
ด้านนายเอกลาภ ยิ้มวิไล ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโทเคอเรนซี่) กล่าวว่าการเข้ามาลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ของสถาบันการเงิน สร้างความเชื่อถือในสินทรัพย์ดิจิทัล ในสายตานักลงทุนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีการเติบโตขึ้น โดยมองว่าการแข่งขันเป็นเรื่องที่ดี เพราะท้ายสุดกลุ่มนักลงทุนได้ประโยชน์ ทั้งบริการที่ดีขึ้น และค่าธรรมเนียมที่ถูกลง
การแข่งขันในตลาดศูนย์ให้บริการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโทเคอเรนซี่) ยังไม่สูง โดยตอนนี้มีที่แข่งขันตลาดจริงจัง 3-4 ราย ท่ามกลางการเติบโตของตลาด และนักลงทุน ยังมีช่องว่างให้เติบโตได้อีกมหาศาล
โดยในส่วนของซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) ต้นปี 2564 มีผู้เปิดบัญชี 300,000 ราย ขณะนี้จำนวนผู้เปิดบัญชีรวม 1.65 ล้านบัญชี เติบโตขึ้น 5 เท่า ขณะที่การซื้อขายหุ้นนั้นใช้เวลา 30 ปี กว่าจะมีบัญชีจำนวน 4.8 ล้านบัญชี โดยการเปิดบัญชี ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลง่ายกว่าเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น สามารถซื้อขายได้ 24 ชั่วโมง และซื้อขายผลิตภัณฑ์เดียวกันได้ทั่วโลก
ทั้งนี้ทิศทางของซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จะเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง ทั้งการสร้างความปลอดภัยและเสถียรภาพให้กับระบบ รองรับปริมาณการซื้อขายจำนวนมาก ขณะเดียวกันจะมุ่งเน้นเรื่องการสร้างประสบการณ์การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้กับลูกค้า ทั้งเรื่องของการใช้งานง่าย และสร้างความประทับใจการใช้งานให้ลูกค้าทุกอย่างสามารถดำเนินการได้ผ่านแอพ และการมีศูนย์คอนแท็กต์เซ็นเตอร์ให้บริการตอบคำถามลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมุ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองกับความต้องการของลูกค้า
นายเอกลาภ กล่าวต่อไปอีกว่าซิปเม็กซ์ จะเดินหน้าการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ เพื่อออกโทเคน ระดมทุน และสร้างคอมมิวนิตี้ หรือรอยัลตี้ ให้กับพาร์ทเนอร์ ทั้งกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ และค้าปลีก โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับ MQDC เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนซื้ออสังหาฯ ระดับเวิลด์คลาส ด้วยโทเคนดิจิทัล ในโครงการภายใต้ MQDC ด้วยสกุลเงิน BTC, ETH, USDT, USDC และ ZMT
นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อนันดา ได้ร่วมมือกับ Bitkub เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มอนันดาทั้งหมด ด้วยโทเคนดิจิทัล ด้วยสกุลเงิน บิตคอยน์ (BTC) เป็นครั้งแรก เพื่อตอบสนองกับชีวิตคนเมืองยุคดิจิทัล
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยภาวะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลรายสัปดาห์ ณ วันที่ 8 พศจิกายน 2564 ว่า ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก มีมาร์เก็ตแคปประมาณ 2.87 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกว่า 43.27% มาจากบิตคอยน์ (Bitcoin) และมีมูลค่าการซื้อขายล่าสุด 115,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน โดยมูลค่าการซื้อขายเริ่มกลับมาสูงขึ้นตามแนวโน้มราคาของตลาดคริปโทเคอเรนซี พบว่า เรียญสกุลบิตคอยน์และอีเธอเรียม ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าเหรียญสกุลอื่นๆ ดังน้ันจึงเริ่มมีการกระจายตัวของมูลค่าการซื้อขายของเหรียญต่างๆ มากขึ้น
สินทรัพย์ดิจิทัลให้ผลตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับหุ้น ทองคำ และน้ำมัน โดยพบว่า อีเธอเรียมให้ผลตอบแทนสูงสุดที่ 553.88% รองลงมาเป็น XRP 431.38% และบิตคอยน์ 126.11% ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนในถ่านหิน 102.48% และน้ำมัน 68.86% แต่ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูงมากเมื่อเทียบกับราคาหุ้น
ขณะเดียวกัน มูลค่าการซื้อขายสะสมแยกตามประเภทสินทรัพย์ดิจิทัล (ตั้งแต่ต้นปี- 8 พ.ย 64) พบว่า บิตคอยน์ มีมูลค่า 192,540 ล้านบาท สัดส่วน 14.58% รองลงมา Dogecoin มีมูลค่า 160,190 ล้านบาท สัดส่วน 12.13%, อีเธอเรียม (Ethereum) มีมูลค่า 145,200 ล้านบาท สัดส่วน 14.58%, XRP มูลค่า 79,370 ล้านบาท สัดส่วน 6.01% ส่วนจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายของบุคคลธรรมดาในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับทิศทางราคาตลาด ซึ่งพบว่าจากช่วงที่มีบัญชีที่มีการซื้อขายสูงสุดในเดือนพฤษภาคมได้ปรับตัวลง และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกครั้งตั้งแต่เดือนสิงหาคม โดยจำนวนบัญชีผู้ลงทุนทั้งสิ้นอยู่ที่ 1.63 ล้านบัญชี ณ เดือนกันยายน 2564