ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี(CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.) หรือ DPU กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ในฐานะสถาบันการศึกษาต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ระยะนี้หลายคนอาจเคยได้ยินคนในวงการไอทีออกมาพูดถึง Web 3.0 อยู่บ่อยครั้ง
ซึ่งจะเข้ามามามีบทบาทอย่างไรนั้น ต้องขอย้อนกลับไปปฐมบทของ Web แรกก่อนเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น สมัยก่อนอินเตอร์เน็ตอยู่ในรูปแบบของ world wide web (WWW) ต้องเชื่อมโยงกับ Domain name ที่เป็น Server ปกติ ส่วนใหญ่ผู้สร้างเว็บไซต์จะเป็นองค์กรหรือบริษัทต่างๆ สร้างขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์องค์กรและเพิ่มช่องทางทางการตลาด
ส่วน Web 2 หรือ อินเตอร์เน็ตในยุคปัจจุบันได้ถูกพัฒนาขึ้นอีกขั้น ในรูปแบบของโซเชียลมีเดียที่เห็นได้ทั่วไป เช่น Facebook, TikTok, YouTube, Twitter โดยองค์ประกอบหลักของแอพพลิเคชั่นเหล่านี้จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน
คือ มีเจ้าของแฟลตฟอร์ม มีคนสร้างคอนเทนต์ เช่น แม่ค้าออนไลน์ ยูทูปเบอร์ และส่วนสุดท้ายจะเป็นลูกค้าหรือคนดู ซึ่งอำนาจทุกอย่างจะอยู่ที่เจ้าของแฟลตฟอร์ม ถ้าผู้ขายอยากโปรโมทสินค้าต้องเสียค่าโฆษณาเท่านั้น
คณบดี CIBA กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของ Web 3 หรือ Web 3.0 แม้องค์ประกอบหลักจะเหมือน Web 2 แต่เทคโนโลยีจะล้ำยิ่งกว่าเดิม ทุกอย่างจะถูกขับเคลื่อนด้วยระบบ Smart Contract เชื่อมโยงด้วย AR (Augmented Reality) หรือ VR (Virtual Reality) ในรูปแบบ Metaverse มีบล็อกเชนคอยทำหน้าที่เก็บ data และการลงทะเบียน
ส่วน Cryptocurrency (คริปโตเคอร์เรนซี) จะเป็นตัวกลางในการจ่ายเงินผ่านระบบ ส่วนสำคัญของWeb 3.0 นี้ จะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงการเกมและวงการโซเชียลมีเดียแต่จะมีอิทธิพลต่อทุกวงการ รวมไปถึงการกระจายอำนาจและกระจายเงินจะไม่อยู่กับแค่เจ้าของแฟลตฟอร์มเท่านั้น แต่จะอยู่ที่ลูกค้าหรือคนเข้าไปดูแอพพลิเคชั่นนั้นๆ ด้วย กล่าวคือ ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของแอพพลิเคชั่นต่างๆ ร่วมกัน และสามารถช่วยกันตรวจสอบธุรกรรมต่างๆ ได้
ยกตัวอย่างเช่น ในอนาคต ทุกกิจกรรมที่เราชอบทำจะได้ค่าตอบแทนกลับคืนมา เช่น ดูหนังแล้วได้เงิน ฟังเพลงแล้วได้เงิน ออกกำลังกายแล้วได้เงิน เป็นต้น
ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าวด้วยว่า วิทยาลัย CIBA ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวและมีแนวคิดปรับหลักสูตรให้ทันต่อทุกการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากในอนาคตมีความเป็นได้สูงที่กิจกรรมหรือธุรกรรมทางการค้าจะมีแนวทางแบบ Play to Earn หรือ เข้ามาทำกิจกรรมต่าง ๆ แล้วได้เงิน ยิ่งกว่านั้น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้ไฟเขียวให้ทุกมหาวิทยาลัยที่มีมุมมองในการพัฒนาหลักสูตรอย่างรวดเร็วหรือเรียกว่าหลักสูตร Sandbox ซึ่งมหาวิทยาลัยสามารถปรับหลักสูตรได้ทันที โดยปลดล็อคกฎเกณฑ์ต่างๆ ตามกรอบของ อว.
แต่อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยที่มีความประสงค์ที่จะปรับหลักสูตรให้ตอบสนองต่อแนวนโยบายดังกล่าว จำเป็นต้องมีการชี้แจงหลักการของการสร้างหลักสูตรเพื่อให้ อว. อนุมัติโดยหลักการในเบื้องต้น แล้วนำเสนอรูปแบบของหลักสูตรฉบับเต็มในลำดับถัดไป ซึ่งแนวทางนี้เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ สามารถพัฒนาและปรับทิศทางในการพัฒนานักศึกษาเพื่ออนาคตได้
ดังนั้น ทางวิทยาลัยมีแผนเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะมองว่ายิ่งนักศึกษาได้เรียนรู้ก่อนจะเห็น Business Model ใหม่ๆ ก่อน ที่ธุรกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีโอกาสสร้างธุรกิจที่สอดรับกับ web 3.0 ซึ่งจะทำให้สามารถทำรายได้ก่อนคนอื่น
“ในอนาคตทุกวงการต้องรีบปรับตัว เพราะเชื่อว่ามีนักพัฒนารุ่นใหม่ ที่รอความพร้อมของระบบบล็อกเชน และสมาร์ทคอนแทรคท์ ที่กำลังเตรียมสร้างแฟลตฟอร์มใหม่รองรับกับ Web 3.0 ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเข้ามาแทนที่แอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ยังไม่ได้พัฒนาและที่ยังใช้ระบบนโยบายเก็บค่าโฆษณาแบบเดิม ดังนั้น จึงอยากให้ทุกคนตื่นตัวและเตรียมตั้งรับกับสิ่งใหม่อยู่เสมอ เพื่อให้เท่าทันและอยู่รอดทุกการเปลี่ยนแปลง” ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าวในตอนท้าย