AIS ฉายเทรนด์เทคโนโลยี “ดิจิทัล”เครื่องยนต์อัจฉริยะขับเคลื่อนโลก

28 ม.ค. 2565 | 05:50 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ม.ค. 2565 | 12:59 น.

AIS ฉายภาพเทรนด์เทคโนโลยีปี 2022 ชี้ “ดิจิทัล” คือเครื่องยนต์อัจฉริยะของการขับเคลื่อนโลกอนาคต ครอบคลุมทุกมิติ ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งภาคธุรกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

AIS โดย AIS NEXT  เผยข้อมูลสำคัญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและโครงข่ายอัจฉริยะที่ต้องจับตามอง  ก่อนจะสร้างการเปลี่ยนแปลงกับภาคส่วนต่างๆ ในปี 2022 โดยชี้ให้เห็นถึง 6 ปรากฎการณ์สำคัญที่จะเกิดขึ้น และคาดว่าจะส่งผลทั้งในภาคธุรกิจ เพื่อการแข่งขันภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

AIS ฉายเทรนด์เทคโนโลยี “ดิจิทัล”เครื่องยนต์อัจฉริยะขับเคลื่อนโลก

หรือแม้แต่การยกระดับประสบการณ์ของผู้บริโภคให้สอดรับกับยุคของโลกเสมือนแบบ Metaverse  รวมถึงการสร้างแนวทางใหม่ด้านสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทต่อนโยบายที่จะช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

นายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม AIS กล่าวว่า “ในปี 2021 ที่ผ่านมา เรายังคงเผชิญอยู่กับวิกฤตของโรคระบาด COVID-19 ตลอดทั้งปี ทำให้ได้บทเรียนจากสถานการณ์นี้ในหลายๆ เรื่อง ทั้งวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ทั้งข้อจำกัดในการทำงาน เราได้เห็นในสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอีก 5-10 ปี และความท้าทายอีกมากมาย แน่นอนว่าในปี 2022 ยังมีหลายปัจจัยที่สร้างผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

AIS ฉายเทรนด์เทคโนโลยี “ดิจิทัล”เครื่องยนต์อัจฉริยะขับเคลื่อนโลก

ดังนั้นในฐานะผู้นำด้านผู้ให้บริการโครงข่าย และผู้ให้บริการด้านดิจิทัลชั้นนำของไทย ทำให้เราเห็นโอกาสภายใต้การเติบโตบนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่หลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้จะเกิดความเข้มข้นในการผลักดันดิจิทัลเทคโนโลยีสู่การทำงานที่ชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น จากเครื่องยนต์ด้านดิจิทัลอัจฉริยะที่จะถูกใช้ในการขับเคลื่อนการเติบโตตั้งแต่ภาพใหญ่ระดับนโยบายด้านเศรษฐกิจ สังคม จนถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

AIS จึงชี้ให้เห็นถึง 6 ประเด็นสำคัญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะเกิดขึ้นในปี 2022 ที่ทุกองค์กรต้องจับตามองดังนี้

AIS ฉายเทรนด์เทคโนโลยี “ดิจิทัล”เครื่องยนต์อัจฉริยะขับเคลื่อนโลก

1. ความสมบูรณ์พรั่งพร้อมของเทคโนโลยี - Abundance of Technology and Platform Companies

หลายปีที่ผ่านมาองค์กรต่างๆ เรียนรู้การนำ Digitalization เข้าไปปรับใช้ในกระบวนการทำงาน เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดประสบการณ์ที่ดีไร้รอยต่อ ตั้งแต่กิจกรรมส่งเสริมการตลาด การขาย บริการหลังการขายทั้ง Online และ Offline ประกอบกับพัฒนาการของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและโครงข่ายเน็ตเวิร์คที่มีประสิทธิภาพ ช่วยทำให้การเชื่อมต่อฐานข้อมูลสู่ Inside – Out Strategies จนสามารถสร้างกลยุทธ์ที่สามารถปรับเปลี่ยนแผนงานตามสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมและแม่นยำ ทำให้เราเห็นความพร้อมขององค์กรในการก้าวสู่ความเป็น Platform Company หรือ Cognitive organization ได้อย่างชัดเจนขึ้น

 

2. ใส่ความอัจฉริยะของเทคโนโลยีไปที่หัวใจขององค์กร - Intelligence at The Core

แม้องค์กรจะมีการทำ Digital Transformation มานับ 10 ปี แต่อาจจะเป็นการทำในส่วนที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า คู่ค้า พนักงาน หรือ Front Line เท่านั้น โดยยังไม่ได้นำมาประยุกต์กับระบบงานส่วนอื่นๆ หรือ ข้อมูลในกระบวนการทำงานหลักในแต่ละอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ Data Flow ใน Core Business ที่อาจจะยังไม่ Digitize ดังนั้นในปีนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างมาก ในการยกระดับการบริหารจัดการองค์กรให้เป็นอัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ  จากการสั่งสมข้อมูลในช่วงของการทำ Digital Transformation ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

 

3. ความหลากหลายด้านการใช้งานระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือน - Hyper Responsive User Interaction

การเปิดตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านตัวเองของบริษัทโซเชียลมีเดียชั้นนำของโลกเข้าสู่สังคมในโลกเสมือน หรือ Metaverse เป็นเครื่องยืนยันว่าโลกอนาคตจะถูกเชื่อมด้วยโลกเสมือนอย่างแน่นอน พฤติกรรมของผู้บริโภคจะผสมผสานการรับรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ เราจะเห็นการพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ ขึ้นเพื่อรองรับความหลากหลายในไลฟ์สไตล์ การปรับเปลี่ยนคอนเทนต์เพื่อให้สอดรับกับโลกที่จะไม่ได้มีแค่โลกจริงอีกต่อไป เพราะฉะนั้นไม่เพียงแค่ต้องเข้าใจกระแส แต่เราต้องก้าวขาเข้าไปอยู่ในกระแสเพื่อมองหาโซลูชันในการสร้าง Engagement กับผู้บริโภคทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนควบคู่กันไป

 

4. การทำงานบนผืนข้อมูลเดียวกัน - Open Data Fabric

เมื่อโลกของข้อมูลกลายเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรเริ่มเข้าใจ และสามารถบริหารจัดการเพื่อนำมาใช้ในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด ในขณะที่ด้วยกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่กำลังมีผลบังคับใช้ในปีนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่จะได้เห็นเครื่องมือในการสร้างการยินยอมการใช้ข้อมูลของผู้บริโภคอย่างเต็มใจ ไปพร้อมๆ กับสร้างความอุ่นใจด้านการใช้ข้อมูลเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดและจะไม่สร้างความเสียหายให้กับลูกค้า

 

อีกทั้งยังมีเรื่องของการที่ไม่จดจำตัวตน (deidentification) แต่ยังคงไว้ซึ่งความสามารถสร้างความเชื่อมโยงของเจ้าของข้อมูลโดยไม่เปิดเผยตัวตน ที่ทำได้ผ่านแพลตฟอร์มกลางในการช่วยยืนยันตัวตนและสร้างตัวตนเสมือน (avatar) ที่ใช้ในการปิดบังตัวตน (anonymity) ไปพร้อมๆกัน ซึ่งจะเป็นเรื่องของการทำ Data ในโลกของ Metaverse นั่นเอง

 

5. การรวมทักษะจากทีมที่หลากหลาย - Talented and Composable Moonlighter

วันนี้ความหลากหลายของทีมที่มีทักษะการทำงานที่ตอบโจทย์ทั้งจากภายในและภายนอก จะกลายมาเป็นทีมที่สร้างผลงานและการเติบโตให้กับองค์กรได้ แน่นอนว่าต้องเกิดจากการมีโครงสร้างองค์กรที่ยืดหยุ่นพร้อมปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์  อีกทั้งการมีเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่พร้อมในการจัดวางโครงสร้างของทีมเพื่อประกอบเอาคนที่มีความสามารถจากที่ต่างๆ มาเป็นทีมเดียวกันที่มีประสิทธิภาพต่อไปได้

 

6. เทคโนโลยีขับเคลื่อนสังคมสู่ความยั่งยืน - Democratization of Doing Good

ปัญหาด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ถูกพูดถึงและหยิบยกขึ้นมาเป็นเรื่องสำคัญของคนทั่วโลก ถึงเวลาที่เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทกับเรื่องนี้อย่างเต็มที่แบบทั้งกระบวนการ เราจะไม่ได้เห็นแค่เพียงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะมาช่วยทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงเท่านั้น แต่เราจะเห็นการสร้างบริการดิจิทัลมาเพื่อตอบสนองคนรุ่นใหม่ที่กำลังลุกขึ้นมาปกป้องโลก ด้วยสินค้าและบริการที่มีการปรับเปลี่ยนส่วนประกอบด้วยเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานที่ลดลง ใช้พลังงานทางเลือก หรือเทคโนโลยีที่สะอาดขึ้น และนำมาคำนวณเป็น Carbon Credit ที่เกิดขึ้นจากการใช้สินค้าและบริการ เพื่อนำไปเป็นคะแนน หรือระบบสะสมต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาช่วยโลกได้มากแค่ไหน

 

“จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เทคโนโลยีดิจิทัลมีส่วนสำคัญอย่างมากในยุคที่เราอยู่ท่ามกลางความท้าทายของการเคลื่อนตัวเข้าสู่โลกใหม่ การยกระดับสู่ความเป็นอัจฉริยะของโครงสร้างหลักพื้นฐานขององค์กรแบบไร้รอยต่อกำลังกลายเป็นเรื่องมาตรฐาน ดังนั้นหากองค์กรในยุคนี้ไม่ลงมือสร้างใน 6 ประเด็น  อาจส่งผลกับการเดินหน้าต่อขององค์กรได้เช่นกัน”