นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า สรุปผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 11–17 ก.พ. 65 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบข้อความที่เข้ามาจำนวน 11,465,622 ข้อความ โดยจากการคัดกรองมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 215 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 107 เรื่อง โดยเป็นเรื่องโควิด 34 เรื่อง
ขณะเดียวกัน พบแนวโน้มการสร้างข่าวปลอม และบิดเบือนข้อมูลในกลุ่มนโยบายรัฐบาล/ ข่าวสารทางราชการที่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเฝ้าระวัง เนื่องจากหลายข่าวจะมีการเชื่อมโยงกับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในกระแสความสนใจของประชาชนติดตามข่าวสาร เพื่อล่อลวงให้คนเข้ามาคลิกอ่าน ตื่นตระหนก หลงเชื่อ และแชร์ข่าวปลอมโดยรู้ไม่เท่าทันผู้ไม่ประสงค์ดี
โดยจากจำนวนเรื่องที่ประสานงานและได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 60 เรื่องในรอบสัปดาห์ล่าสุด พบข่าวปลอมในกลุ่มนี้ ได้แก่ ข่าวคลิปเสียงการประชุมที่กระทรวงสาธารณสุข เรื่องรัฐบาลไม่เปิดเผยข้อมูลวัคซีนโควิด-19 กับประชาชน และข่าวเอกสารเกี่ยวกับการพิจารณาวัคซีนของทางสำนักงานอาหารและยา อีกทั้ง มีการเผยแพร่ข่าวปลอมหวังสร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชน โดยเชื่อมโยงกับความกลัวที่เกี่ยวเนื่องกับโรคโควิด อย่างเช่น ข่าว สธ. เตือนไข้หวัดใหญ่ครั้งนี้มีความร้ายแรงมาก ให้งดการเดินทางและกิจกรรมทุกประเภทที่ไม่จำเป็น
นางสาวนพวรรณ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายอยู่บนโซเชียล/ ออนไลน์ โดยสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้
ไลน์ @antifakenewscenter
เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com
ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand
และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87