แพทย์หญิงนวพร นะลิตา ผู้ก่อตั้ง และหัวหน้าโครงการเชียงใหม่ คริปโต ซิตี้ หรือ“Chiangmai Crypto City” (CCC) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เชียงใหม่ คริปโต ซิตี้ เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้ที่เชื่อมั่นในเทคโนโลยีบล็อกเชน และต้องการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมายกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต จังหวัดเชียงใหม่
โดยหลังเปิดตัวได้ 1 เดือนขณะนี้มีผู้คนจากหลากหลายอาชีพ ทั้งแพทย์ นักพัฒนา อาจารย์ นักวิชาการ วิศวกร สตาร์ทอัพ และนักกฎหมาย เข้าร่วมในคอมมิวนิตี้มากกว่า 2,600 คน และมีบริษัทเอกชน มหาวิทยาลัย 16 แห่ง และโรงพยาบาล เข้าร่วม
อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐเบื้องต้น 2 หน่วยงาน คือ หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (สาขาภาคเหนือตอนบน)
“โครงการดังกล่าวถือเป็นโซเชียลเอ็นไพรส์ ที่รวมคนเก่งที่มีศักยภาพเข้ามาร่วม ออกแบบ วางแผน การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนในสาขาต่างๆ โดยเรามองว่าบล็อกเชนเป็นมากกว่า คริปโต แต่ที่ใช้ชื่อ “เชียงใหม่ คริปโต ซิตี้” เพราะคริปโตเป็นที่รู้จักแพร่หลายในบริการการเงิน อย่างไรก็ตามคริปโตเป็นส่วนหนึ่งที่ของบล็อกเชน เราสามารถนำบล็อกเชนมาใช้ประโยชน์ในสาขาอื่นๆได้อีกมากมาย”
ด้านนายแพทย์เกียรติศักดิ์ วงศ์วรชาติ ผู้ก่อตั้ง และหัวหน้าด้านกลยุทธ์ โครงการ เชียงใหม่ คริปโต ซิตี้ กล่าวว่าโปรเจ็กต์ เชียงใหม่ คริปโต ซิตี้ หรือ บล็อกเชน ซิตี้ นั้นเป็น Decentralized Open Source Platform บนระบบบล็อกเชน 4.0 ที่ตัดคนกลางออกไป โดยมีสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) มาใช้ควบคุม มีความปลอดภัย โปร่งใส ซึ่งถือได้ว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานของโลกอนาคต โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจมาทำธุรกิจร่วมกัน หรือ ผู้ที่สนใจอยากจะเข้ามาร่วมพัฒนาชุมชนก็สามารถเข้าร่วมได้เช่นกัน
เป้าหมายของโครงการเชียงใหม่ คริปโต ซิตี้ คือการผลักดันไปสู่ "ซิลิกอนวัลเลย์" ทางด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งรัฐบาลมีแนวคิดพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ ครอบ คลุมพื้นที่เชียงใหม่ ซึ่งควรวางโรดแมป การพัฒนาบล็อกเชนเอาไว้ด้วย โดยหลายเมืองมีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ ยกระดับเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิต เมืองที่ประสบความสำเร็จ คือ เมือง ZUG ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่มีมูลค่าเศรษฐกิจ 20 ล้านล้านบาท เทียบเท่างบประมาณประเทศไทย 6 ปีรวมกัน ส่วนโครงการเชียงใหม่ คริปโต ซิตี้ หากประสบความสำเร็จเชื่อว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแบบไร้ขีดจำกัด
นายแพทย์เกียรติศักดิ์ กล่าวต่อไปว่าจุดสำคัญของโครงการเชียงใหม่ คริปโต ซิตี้คือ ความร่วมมือแบบไตรภาคี เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มด้านบล็อกเชนขึ้นมา ทั้งบุคคล ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ที่มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วม 16 แห่ง เพื่อร่วมงานวิจัย และสร้างบุคลากรขึ้นมา และได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งการดำเนินการโครงการดังกล่าวล้อไปกับนโยบายภาครัฐ โดยมีการจัดตั้งเป็นพื้นที่ แซนด์บล็อก (Sandbox) ขึ้นมาเพื่อพัฒนา และทดสอบเทคโนโลยี หรือบริการที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ
โดยเชียงใหม่ คริปโต ซิตี้ จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานบล็อกเชน 4.0 ให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาเชื่อมต่อใช้งาน ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มอาสาสมัคร ราว 200 คน เข้ามาร่วมพัฒนาโครงการเกี่ยวกับบล็อกเชน 39 โครงการ เช่น การสร้างเหรียญ Token คาร์บอนเครดิต ขึ้นมา เพื่อลดปัญหาการเผาป่า และปัญหาหมอกควันในเชียงใหม่ หรือการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ทางด้านการแพทย์ หรือ Game Fi ที่เด็กมีรายได้จากการเล่นเกม และจุดสำคัญท้ายสุดคืองานวิจัยทำจนจบ มีการจัดทำกรอบการวิจัย เก็บข้อมูล และวัดผล เพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการนำไปต่อยอดให้กับประเทศ
ส่วนนายนที เทพโภชน์ ผู้ก่อตั้ง และหัวหน้าผู้ประสานงาน โครงการ เชียงใหม่ คริปโต ซิตี้ กล่าวว่า ภายหลังการพูดคุยกับหน่วยงานท้องถิ่นในเชียงใหม่ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เห็นชอบหลักการโครงการดังกล่าว และได้รับการสนับสนุนจากนายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่สำคัญ ส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี อุทยานวิทยาศาสตร์ ในการจัดตั้งเป็นพื้นที่แซนด์บล็อก
ส่วนงบประมาณสนับสนุนนั้นเบื้องต้น โครงการ เชียงใหม่ คริปโต ซิตี้ได้รับการสนับสนุนการวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และ NEAR protocol ผู้ให้บริการบล็อกเชนจากต่างประเทศ โดยจะเปิดตัวโครงการดังกล่าวอย่างเป็นทางการในงาน Block Mountain Event วันที่ 9 เมษายนี้ โดยโปรเจ็กต์แรกที่เกิดขึ้น คือความร่วมมือกับออมแพลตฟอร์ม ผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ กับเพจ iChiang mai รวมข้อมูลไว้ทั้งร้านอาหาร ร้านกาแฟ สถานที่เที่ยว รวมถึงเรื่องราวต่างๆในเมืองเชียงใหม่ เพื่อจะช่วยกันผลักดันและสร้างพื้นฐานความรู้เรื่องบล็อกเชน การประยุกต์ใช้วอลเล็ต และ NFT