เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2565 สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับ Thairun จัดกิจกรรม “Hackathon” ประจำปี 2022
ซึ่งเป็นกิจกรรมการเรียนรู้บนพื้นฐานการคิดวิเคราะห์และแข่งขันเขียนโปรแกรมแก้โจทย์ปัญหา ซึ่งถือเป็นสนามฝึกทักษะด้านวิศวกรรมในระดับมหาวิทยาลัย ที่ SIIT ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชนจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้มีนักศึกษา SIIT เข้าร่วมกว่า 60 ราย
นายอมรเชษฐ์ จินดาอภิรักษ์ CEO และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง TakeMeTour และ EasyPDPA เปิดเผยว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพ และการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneur) ถือเป็นเทรนด์ที่คนยุคใหม่ให้ความสนใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาเหล่านั้นได้เห็นภาพความสำเร็จ
แต่สิ่งที่ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงหรือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังนั้น คือการเผชิญกับความเครียด ความยากลำบาก ความล้มเหลวหลายต่อหลายครั้ง แทบจะไม่มีใครทำธุรกิจหรือสตาร์ทอัพแล้วสามารถประสบความสำเร็จได้ในครั้งแรก กว่าจะประสบความสำเร็จได้นั้นจำเป็นต้องสั่งสมบทเรียนและประสบการณ์ระหว่างทาง
ซึ่งสามารถเริ่มได้จากการเตรียมความพร้อมและการฝึกฝนทักษะในรั้วมหาวิทยาลัย รวมถึงการลองผิดลองถูกผ่านสนามการแข่งขันต่างๆ
นายอมรเชษฐ์ กล่าวว่า การที่สถาบันการศึกษาจัดกิจกรรมเพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับนักศึกษานั้นเป็นสิ่งที่ดีมาก อย่างกิจกรรม Hackathon ที่ SIIT จัดขึ้น นอกจากจะเป็นพื้นที่กลางที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกซ้อมฝึกฝนทักษะที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรรม ความคิดสร้างสรรค์ การตลาด ฯลฯ แล้ว
ยังถือเป็นเวทีที่จะสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์ให้กับนักศึกษาด้วย เพราะทางนักศึกษาก็จะได้ความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ หรือสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ ขณะที่ทางผู้ประกอบการก็จะได้ทำความรู้จักกับนักศึกษาเช่นกัน
“อีกสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพทุกวันนี้คือทีมเก่งๆ ที่จะมาทำงานร่วมกันกับเรา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการสร้างเครือข่ายเหล่านี้เอาไว้ จะกลายเป็นส่วนสำคัญที่มาเชื่อมต่อกันได้ในอนาคต” นายอมรเชษฐ์ กล่าว
ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร CEO, iApp Technology กล่าวว่า สิ่งที่จะทำให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ประสบความสำเร็จคือแนวคิดการเป็นนวัตกร (innovator) ที่รู้สึกอยากสร้างอะไรใหม่ๆ ให้กับโลก โดยความต้องการของตลาดทุกวันนี้คือการมองหานวัตกรรมที่เข้ามาช่วยสร้างมูลค่า ลดค่าใช้จ่ายในการทำงาน หรือโซลูชั่นที่ช่วยธุรกิจต่างๆ แก้ไขปัญหา ซึ่งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถือเป็นตัวอย่างที่ดี และนับเป็นโอกาสที่น่าสนใจ
ดร.กอบกฤตย์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ AI ถูกนำมาปรับใช้ในไทยมากขึ้น เช่น หุ่นยนต์ช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่เป็นเสียงไทย หรือ AI อ่านค่าข้อมูลต่างๆ ที่เป็นภาษาไทย ฯลฯ แต่ยังมีช่องว่างและความเป็นไปได้อีกมหาศาลที่จะสร้าง AI ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ในที่ยังไม่เคยถูกพูดถึง ฉะนั้นหากนักศึกษามีทักษะและสามารถพัฒนา AI ที่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ ก็จะเป็น Blue Ocean ที่ให้ผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ได้เข้ามาในแวดวงธุรกิจอีกมาก
“สิ่งสำคัญคือต้องมีทักษะพื้นฐาน ต้องเขียนโปรแกรมให้เก่ง และต้องมีทักษะในการบริหารจัดการเพื่อต่อยอดให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงทักษะการบริหารคน การสร้างทีม ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือองค์ประกอบที่สำคัญ การเริ่มต้นธุรกิจในครั้งแรกนั้นยากที่จะประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องฝึกสร้าง ฝึกแก้ปัญหา เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปเรื่อยๆ ฉะนั้นหากเราเรียนอยู่ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว ไม่มีเวลาฝึกฝนทักษะเหล่านี้ ก็คงลำบาก” ดร.กอบกฤตย์ กล่าว
ขณะที่ ดร.ปิโยรส ตั้งธรรมธิติ Chief Technology Officer บริษัท บอทน้อยคอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวว่า จากประสบการณ์ในฐานะศิษย์เก่า SIIT และเคยมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม Hackathon ในอดีต ยืนยันว่าการเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้แสดงศักยภาพและเชื่อมต่อการทำงานร่วมกับภาคธุรกิจเป็นสิ่งที่สำคัญมากในยุคปัจจุบัน
เพราะถือเป็นการเปิดโอกาสให้ทั้งนักศึกษาและผู้ประกอบการเอง เช่นเดียวกับ ทางบริษัท บอทน้อยคอนซัลติ้ง ที่เคยรับนักศึกษาฝึกงานและรับเข้าเป็นพนักงานจำนวนมาก ก็มาจากเวทีและกิจกรรมเช่นนี้เช่นกัน
นายธีร์ ศรีทับทิม Chief Technology Officer Thairun กล่าวว่า กิจกรรม SIIT Hackathon ในปีนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ Thairun ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมจัด บนจุดประสงค์หลักที่ต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษา เพื่อให้ได้ฝึกฝนทักษะ เห็นมุมมองในการแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย และแตกต่างออกไปจากที่ได้ปฏิบัติในห้องเรียน ทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่ทางบริษัทหรือองค์กรที่เข้าร่วมจะได้ทาบทามนักศึกษาที่มีศักยภาพให้เข้าสู่สนามการทำงานจริงได้
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต จีนอนันต์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ SIIT กล่าวว่า SIIT Hackathon นี้ถือว่าเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ ที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบนิเวศของสถาบันการศึกษาทั้ง SIIT และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถือเป็นแหล่งของทรัพยากรทั้งองค์ความรู้ คณาจารย์ รวมไปถึงศิษย์เก่าของสถาบันที่มีศักยภาพ
โดยหลายรายเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ และยังคงแวะเวียนมาร่วมแลกเปลี่ยนให้ความรู้ รวมถึงเป็นพี่เลี้ยงที่คอยหนุนเสริมศักยภาพของศิษย์ปัจจุบัน กลายเป็นเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง ที่จะต่อยอดไปสู่การเป็นเครือข่ายทางธุรกิจต่อไปในอนาคต
รศ.ดร. ชวลิต กล่าวว่า SIIT นับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกๆ ที่จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2013 โดยที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากองค์กรภาคธุรกิจหลากหลาย อาทิ ดีแทค หรือ ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) อันเป็นโอกาสที่นักศึกษาได้แสดงศักยภาพ จนสามารถต่อยอดไปสู่การร่วมธุรกิจจริงที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
“ครั้งนี้เรากลับมาจัด Hackathon แบบพบปะกันอีกครั้ง หลังจากที่หยุดไป 2 ปีเนื่องจากโควิด-19 ทั้งยังเป็นโอกาสดีในวาระการครบรอบ 30 ปี ของ SIIT ที่พร้อมจะเดินหน้าเข้าสู่การศึกษาและการจัดกิจกรรมเรียนรู้ต่างๆ อย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง เพื่อสร้างนักศึกษาที่พร้อมด้วยความรู้และทักษะแห่งโลกยุคศตวรรษที่ 21 ที่นอกจากทักษะด้านวิศวกรรม การจัดการ อันเป็นพื้นฐานแล้ว ยังจะต้องประกอบไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) ร่วมด้วย” รศ.ดร. ชวลิต กล่าว