สภาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีมติเห็นชอบให้ “รศ. ดร.คมสัน มาลีสี” เป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่ง “อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง” โดยที่ผ่านมา รศ. ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการแทนอธิการบดี มีประสบการณ์การบริหารงานภายใน สจล. มากว่า 12 ปี ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ทั้งด้านการบริหารในฐานะ “คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์”
สู่การผลักดัน Education Reform ส่งเสริมการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนที่ทันสมัย “กรรมการอำนวยการ โรงเรียนสาธิตนานาชาติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMIDS)” โรงเรียนสาธิตนานาชาติสายวิทย์แห่งแรกของไทย “อธิการบดีสถาบันโคเซ็นแห่ง สจล.” (KOSEN-KMITL) สถาบันชำนาญพิเศษเฉพาะด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่มุ่งผลิตวิศวกรชั้นแนวหน้าของโลก ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ยังได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในด้านงานวิชาการ ผ่านการผลักดันให้เกิดหลักสูตรนานาชาติถึง 12 หลักสูตร อาทิ วิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ และวิศวกรรมการเงิน โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ พร้อมทั้งส่งเสริมการนำผลงานของนักศึกษามาสร้างเป็นนิทรรศการเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง ตลอดจนด้านการบริการสังคม ด้วยการบุกเบิกโครงการ FACTory Classroom โรงงานต้นแบบแห่งการเรียนรู้ภายใต้ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม สู่การเพิ่มมูลค่าแก่ผลผลิตทางการเกษตรด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยเป้าหมายที่ต้องการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน พร้อมทั้งสร้างรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้วิสาหกิจชุมชนเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนสถาบันฯ ภายใต้การบริหารของ “รศ. ดร.คมสัน มาลีสี” มีหมุดหมายในการบริหารแบบ “รอบด้าน ทุกมุมมอง” เพื่อสานต่อวิสัยทัศน์ The World Master of Innovation หรือผู้นำนวัตกรรมระดับโลก เพื่อเดินหน้าสู่การเป็น “สถาบันเทคโนโลยีชั้นนำแห่งเอเชีย” กลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันนวัตกรรมโลก และเพื่อพัฒนา สจล. ให้รวดเร็วที่สุด
จึงผลักดันให้เกิดนโยบาย Quick Win ทำทันที ถึง 22 ข้อหลักๆ อาทิ การพัฒนาพื้นที่ออกกำลังกาย และเพิ่มเติมหอพักใหม่ พร้อมทั้งผลักดันแอปพลิเคชัน KMITL UApp เพื่อให้บริการนักศึกษา และเกิดการเชื่อมโยงกันแบบเรียลไทม์ เดินหน้าผลักดันการทำโปรเจ็กต์ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ต่อยอดไปสู่การสนับสนุนนักศึกษาในการสร้างสตาร์ทอัพ และผสานองค์ความรู้ระหว่างวิทยาเขต โดยมีนโยบายหลักในการพัฒนา สจล. อย่าง Global Innovation Index ที่ครอบคลุมพัฒนาทั้งด้านระบบการทำงาน คุณภาพชีวิต ต่อยอดเครือข่าย ส่งเสริมนวัตกรรม และผลักดันด้านการเรียนรู้ ใน 5 มิติดังนี้
• Global Infrastructure – เพิ่มคุณภาพชีวิตบุคลากรและนักศึกษา มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) ผ่านการพัฒนาทุกพื้นที่ทั่วทั้งสถาบันให้เป็นพื้นที่พักผ่อน เพิ่มพื้นที่ทำกิจกรรมนักศึกษา พื้นที่ออกกำลังกาย และพื้นที่แห่งการเรียนรู้ (Learning Space) เชื่อมโยงเส้นทางรถไฟฟ้าบริเวณโดยรอบสถาบันและพื้นที่ภายนอก ติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าตลอดจนปรับสภาพแหล่งน้ำให้สะอาดและใช้ประโยชน์จากน้ำเหลือทิ้งให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมหอพักนักศึกษาใหม่ รองรับนักศึกษาได้ถึง 2,000 คน และเพิ่มการให้บริการด้านสุขภาพจากโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารแก่บุคลากรในสถาบัน และประชาชนโดยรอบ
• Global Management – ผลักดันบุคลากรสู่โลกดิจิทัล ด้วยการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้เท่าทันโลกการทำงานยุคดิจิทัล ผ่านระบบประเมินบุคลากรใน 3 รูปแบบ ทั้งแบบประเมินตนเอง หัวหน้าส่วนงานเพื่อพิจารณาขึ้นชั้นเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง และการทำงานร่วมกัน (Team Work) สู่การเป็น มหาวิทยาลัยดิจิทัล หรือ Digital University เต็มรูปแบบ ที่ทุกสิ่งสามารถเชื่อมโยงกันได้แบบเรียลไทม์ พัฒนางานบริการสำหรับนักศึกษาผ่านแอปพลิเคชัน KMITL UApp และผลักดันการปฏิรูปสำนักบริการคอมพิวเตอร์ให้เป็น KMITL Digital Data Center
• Global Citizen – ปั้นบัณฑิตให้พร้อมทำงานทั่วโลก ด้วยการบ่มเพาะบัณฑิตให้เป็นส่วนหนึ่งของประชากรโลกที่พร้อมทำงานร่วมกับองค์กรทั่วโลก พร้อมเดินหน้าพัฒนางานวิจัยชั้นแนวหน้า (Frontier Research) ผ่านการจับมือองค์กรภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วม ส่งเสริมให้นักศึกษาพัฒนาโปรเจ็กต์ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 พร้อมทั้งกระตุ้นการใช้ภาษาอังกฤษ พัฒนาแพลตฟอร์ม Skill Mapping ระบบวิเคราะห์ดีมานด์ตลาดแรงงาน เชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ-เอกชน รวมทั้งดึงภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนางานวิจัยผ่านหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก ภายใต้โมเดล Industrial Link Gate เพื่อก้าวเข้าสู่การศึกษาตลอดชีวิตอย่างแท้จริง
• Global Innovation – รุดพัฒนานวัตกรรมระดับโลกเพื่อลดการนำเข้า ด้วยการเดินหน้าพัฒนาโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร เพื่อผลักดันให้เป็นโรงพยาบาลวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ดีที่สุดของไทยจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ลดการนำเข้านวัตกรรมทางการแพทย์ราคาสูงจากต่างประเทศ ตลอดจนเป็นพื้นที่วิจัยและพัฒนา (R&D) สำหรับหน่วยงานภายนอก รวมทั้งเดินหน้าสร้าง Startup University Sandbox ส่งเสริมการพัฒนาสตาร์ทอัพ ผ่านแพลตฟอร์ม Research & Innovation Management (KRIS-One) เพื่อสร้างช่องทางสนับสนุนนักศึกษาในการสร้างสตาร์ทอัพ และผลักดันให้เกิดนวัตกรรมกว่า 1,000 ชิ้นต่อปี ผ่าน KMITL Expo พร้อมทั้งพัฒนาศูนย์กลางเครื่องมือครบวงจร (Advanced Instruments Center) เพื่อเป็นศูนย์รวมอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอน และการวิจัย
• Global Learning – ขมวดรวมทุกวิทยาเขตเป็นหนึ่งเดียว ผสานองค์ความรู้ระหว่างสองวิทยาเขต ได้แก่ สจล. และ สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร เป็นหนึ่งเดียว ส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงาน ด้านทรัพยากรทางทะเล และการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังตั้งเป้าในการพัฒนาศูนย์ดาราศาสตร์ ในพื้นที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ต่อไป
“อย่างไรก็ดี รศ. ดร.คมสัน มาลีสี ยังมุ่งขับเคลื่อนสถาบันฯ ผ่านค่านิยม FIGHT ที่ไม่ได้มีความหมายแค่แปลว่า “สู้” แต่ยังซ่อนความหมายแฝงอันเป็นเอกลักษณ์ของ สจล. ไว้ F : “Futurist”
มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และกล้าแตกต่าง I : “Ignite” พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมนำการเปลี่ยนแปลง
G : “Greatness” มุ่งเน้นความเป็นเลิศ และสหวิชาชีพ H : “Honor” ยึดหลักธรรมาภิบาล และสร้างความยั่งยืน T : “Team Spirit” ทำงานเป็นทีม และผสานประโยชน์จากความหลากหลาย โดยมุ่งหวังให้ประชาคม สจล. FIGHT Together สู้ไปด้วยกัน”