“อว.” เปิดเสวนาขับเคลื่อนประเทศ หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

06 ส.ค. 2565 | 07:19 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2565 | 14:24 น.

“อว.” เปิดเสวนาจิ๊กซอว์ตัวใหม่ หนุนแผนขับเคลื่อนประเทศไทย แนะรัฐใช้นวัตกรรม-สร้างนักวิจัยต่อยอด ตั้งเป้าโกยรายได้ 28 ล้านล้านบาท หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้จัดเวทีเสวนา เรื่อง ธัชชา & ธัชวิทย์ วิทยสถานเพื่อการพัฒนาประเทศด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงาน มหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2565 เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับหน่วยงานใหม่ที่เป็นเสมือนแพลตฟอร์ม หรือ จิ๊กซอว์ ที่จะนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด

 

“อว.” เปิดเสวนาขับเคลื่อนประเทศ หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

ที่ผ่านมากระทรวง อว.จัดตั้งมาเป็นเวลา 3 ปี ประกอบด้วย 3 คลัสเตอร์ คือ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯเดิม มารวมกับสำนักงานการอุดมศึกษา และ การวิจัยและพัฒนา แต่จากนโยบายของ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีกระทรวงอว. ที่ต้องการให้ประเทศไทยเดินแบบ 2 ขา โดยเล็งเห็นว่า ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์มาช้านาน และแม้การจัดลำดับการแข่งขันระดับโลกประเทศไทยจะไม่สูงนัก แต่กลับติดอันดับ 7 ของโลก ในฐานะประเทศที่ร่ำรวยทางวัฒนธรรม ดังนั้นจึงควรผลักดันการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจในเชิงสร้างสรรค์ เป็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ กระทรวง อว.จึงจัดตั้ง ธัชชา ด้วยหลักคิดที่ว่า รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน เพื่อเดินหน้าสู่อนาคต ซึ่งเป็นเสมือนแพลตฟอร์มที่จะให้นักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน ทุกภาคส่วนที่เห็นคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมมาระดมความคิดเห็นร่วมกันประกอบด้วย 5 สถาบัน คือ สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น สถาบันสุวรรณภูมิ สถาบันโลกคดีศึกษา สถาบันพิพิธภัณฑ์และศิลปกรรมแห่งชาติ และ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับธัชวิทย์ ถือกำเนิดด้วยหลักคิดว่า เราควรมีองค์กรที่มีความคล่องตัวเพื่อยกระดับวิทยาศาสตร์ของประเทศแบบก้าวกระโดด 3 ประการ คือ เป็นคำตอบหรือมันสมองของประเทศ สามารถให้ข้อมูลด้าน ววน.อย่างดีที่สุด เป็นแหล่งรวมกำลังคนด้าน ววน.ในมิติที่คนไทยต้องการ เกินขอบเขตของมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และไม่มีหน่วยงานใดทำได้ด้วยตนเอง และเป็นแหล่งการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงเพิ่มเติม ประกอบด้วย 3 แพลตฟอร์ม ได้แก่ พลังคิดนักวิทย์ รวมกำลังคนสายวิทย์ และผลิตพัฒนาบัณฑิตนักวิทยาศาสตร์ศักยภาพสูง

สำหรับการเปิดเวทีเสวนา ในหัวข้อ ธัชชา& ธัชวิทย์ วิทยสถานเพื่อการพัฒนาประเทศด้านสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยแบ่งเป็น 2 ภาค ภาคแรกประกอบด้วยผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ดร.สิริกร มณีรินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา นายสมปอง สงวนบรรพ์ ผู้อำนวยการสถาบันโลกคดีศึกษา ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ และ ผศ.ดร.ศรชัย มุ่งไธสง ผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ภาคหลังประกอบด้วย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร.พญ.พัชรีย์ เลิศฤทธิ์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาได้ชี้แจงถึงผลงานที่ผ่านมาของธัชชา&ธัชวิทย์ในส่วนที่ดูแลรับผิดชอบ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา อาทิ สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น ได้ทำงานร่วมกับยูเนสโก จัดทำฐานข้อมูลทำเนียบช่างศิลป์ไม่น้อยกว่า  200 คน ผู้สืบสานงานศิลป์ไม่น้อยกว่า 100 คน ถอดองค์ความรู้เป็นหลักสูตร 47 ชุด สานต่อลมหายใจขององค์ความรู้ที่กำลังจะสูญหายไปจากแผ่นดินไม่ต่ำกว่า 5 สาขา โดยมีช่างเกรียบ เหลือเพียงคนเดียวในประเทศ จุดประกายให้เกิดการเรียนรู้ทางด้านพุทธศิลป์โดยลงพื้นที่ใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง น่าน และนครศรีธรรมราช

“อว.” เปิดเสวนาขับเคลื่อนประเทศ หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

 

ส่วนงานด้านสุวรรรณภูมิศึกษา ได้พบหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่า เมื่อ 2,000 ปีก่อนดินแดนสุวรรณภูมิมีจริง เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยี ชุมทางการค้า บ่มเพาะศิลปวัฒนธรรม เป็นขุมคลังแห่งความรู้ที่ทรงคุณค่า เป็นต้น

“อว.” เปิดเสวนาขับเคลื่อนประเทศ หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

อย่างไรก็ตามทั้งธัชชา และ ธัชวิทย์ จะมีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยธัชชาจะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพและการขยายตัวในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy ในขณะที่ธัชวิทย์ จะทำให้ประเทศไทยก้าวกระโดด เพราะ ณ วันนี้โจทย์ของประเทศคือ กับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งการจะออกจากฉากทัศน์นี้ได้จะต้องทำรายได้ประชาชาติสูงถึง 28 ล้านล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ทำได้ 17 ล้านล้านบาท ซึ่งจะต้องใช้ Innovation ช่วยเป็นอย่างมาก ซึ่งจะต้องอาศัยนักวิจัยที่มีศักยภาพสูง สร้างความเป็นเวิลด์คลาส ด้วยการนำร่องสร้างคนเก่งให้ได้ประมาณ 8-9 กลุ่ม สนองนโยบายรัฐบาล ได้แก่ ด้านอาหาร การแพทย์ พลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งอีกไม่นานเกินรอจะมีผลผลิตจากธัชวิทย์รุ่นแรก ประมาณ 20 คน ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเข้มแข็ง นำประเทศไปสู่การพัฒนา หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง