ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. (GISTDA) กล่าวในงานสัมมนา "อนาคตประเทศไทย นวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศ" ในหัวข้อ "เทคโนโลยีใหม่เปลี่ยนไทย-เปลี่ยนโลก" ซึ่งจัดโดยสื่อเครือเนชั่นว่า อวกาศเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกี่ยวเนื่องกับการบริหารจดัการเศรษฐกิจประเทศ การเกษตร และอีกหลายๆ อย่าง โดยศึกษาได้ง่ายๆ จากการเดินทางที่คนต้องอาศัย GPS จากโทรศัพท์มือถือ การดูทีวีผ่านดาวเทียม การใช้ข้อมูลดาวเทียมเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ไฟไหม้ ฝุ่น PM 2.5 และรวมถึงการติดตามเรื่องการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์
ขณะนี้รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านอินฟราสตรัคเจอร์เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศ และพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศร่วมกับพันธมิตร อาทิ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น รวมทั้งภาคเอกชน และองค์กรระดับสตาร์ทอัพหลายราย ที่เริ่มศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียม
เช่น โครงการ THEOS-2 ที่สร้างขึ้นโดยคนไทย เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนา Application ภูมิสารสนเทศจากภาพถ่ายดาวเทียม และการสร้างดาวเทียม ซึ่งประกอบด้วยดาวเทียมหลัก 1 ดวง และดาวเทียมเล็ก 1 ดวง มีโหมดการทำงานที่สามารถบันทึกภาพรายละเอียดสูงมาก ในระดับ 50 เซนติเมตร
ล่าสุด GISTDA ยังลงนามความร่วมมือกับ Korea Aerospace Research Institute (KARI) ร่วมมือการศึกษาความความเป็นไปได้ในการสร้างจัดตั้งท่าอวกาศยานในประเทศไทย ซึ่งหากกระบวนการศึกษาเห็นว่าสามารถทำได้ ก็จะเดินหน้าทันที
อย่างไรก็ตาม ทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมของไทย ต้องศึกษาดูว่า ความต้องการดาวเทียมนั่นทำเพื่ออะไร รองรับงานด้านใด เพราะขณะนี้ต้นทุนการพัฒนาและสร้างดาวเทียมขึ้นพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 100 ล้านบาท ก็สามารถสร้างมาเพื่อสื่อสารเก็บข้อมูลได้แล้ว ยิ่งถ้าสามารถใช้คอนเทนต์ ใช้วัสดุในประเทศได้ เศรษฐกิจไทยจะสามารถพัฒนาได้อีกมาก เพราะงานเกี่ยวเทคโนโลยีอวกาศ มีโอกาสทางอาชีพใหม่ๆ อีกมากมาย เพียงแค่ภาครัฐเตรียมอินฟราสตรัคเจอร์ในการรองรับไว้ให้พร้อม
พร้อมทั้งศึกษารายละเอียดในอนาคตว่า ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น แล้วนำมาต่อยอดพัฒนาร่วมกันกับผู้มีความรู้ ภาคเอกชน และพันธมิตรในประเทศต่างๆ ก็จะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจไทยโดยรวมให้ก้าวหน้าได้ รวมทั้งสร้างความเท่าเทียมและการเป็นอยู่ที่ดีให้คนไทยได้