สภาผู้บริโภคชี้ควบรวม“เอไอเอส-ทรีบรอดแบนด์”กระทบสิทธิผู้บริโภค

01 ส.ค. 2566 | 09:42 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2566 | 09:49 น.

สภาผู้บริโภคชี้ควบรวมเอไอเอส-ทรีบรอดแบนด์ กระทบสิทธิผู้บริโภค เสนอ กสทช. ใช้อำนาจตามก.ม. ไม่ใช่เพียงรับทราบเหมือนกรณีทรู-ดีแทค แนะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม พร้อมจี้เปิดรายงานผลกระทบทั้งในและต่างประเทศ

กรณีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 บริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส (AIS) ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องการเข้าซื้อกิจการบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (TTTBB) หรือ ทรีบรอดแบนด์ (3BB) รวมถึงซื้อกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิส (JASIF) จากบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (JAS) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของทรีบรอดแบนด์ 

และในวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 กสทช. ได้จัดรับฟังความคิดเห็นต่อการขอควบรวมธุรกิจด้านบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ (บรอดแบรนด์) ระหว่าง บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทลูก AIS และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) นั้น

นางสาว สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคได้ทำส่งความเห็นต่อ กรณีการรวมธุรกิจระหว่างเอไอเอส และ ทรีบรอดแบนด์ ถึง กสทช. ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 โดยมีประเด็นความเห็นใน 2 ประเด็นหลัก ๆ ได้แก่ 

1. ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง ทั้งในด้านราคาและคุณภาพของบริการ ความหลากหลายของบริการ ทางเลือก และอำนาจต่อรองของผู้บริโภค รวมทั้งเรื่องการให้บริการในพื้นที่ห่างไกลหรือชนบท 

และ 2. ผลกระทบด้านข้อกำหนดเงื่อนไข แนวทางในการกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง เช่น สัญญาระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการ การคงไว้ซึ่งสิทธิการได้รับบริการเดิม ทั้งในเชิงคุณภาพ ปริมาณ การเยียวยาโดยเฉพาะกรณีมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นต้น

สภาผู้บริโภคมีข้อเสนอต่อ กสทช. กรณีการรวมธุรกิจระหว่างเอไอเอส และทรีบรอดแบนด์ 5 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. ขอให้กสทช. ใช้อำนาจของคณะกรรมการตามกฎหมาย ไม่ควรดำเนินการเพียงระดับการรับทราบการดำเนินการของสำนักงาน เช่น กรณีการควบรวมกิจการของทรู - ดีแทค ซึ่งอาจขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

2. ขอให้สำนักงาน กสทช. จัดเวทีรับฟังกับสภาผู้บริโภคและองค์กรสมาชิก แยกเป็นเฉพาะ เพื่อที่จะทำให้สภาองค์กรของผู้บริโภค การทำหน้าที่ผู้แทนของผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562

3. ขอให้กสทช. เปิดเผยรายงานการศึกษาผลกระทบทั้งในและต่างประเทศ และเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นมาตรการป้องกันปัญหาจากการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) ควบคู่ในการดำเนินการพิจารณาเรื่องนี้ด้วย

4. กรณีที่อนุญาตให้เกิดการควบรวม ขอให้ กสทช. วางหลักเกณฑ์มาตรฐานสัญญา เงื่อนไข และดูแลคุณภาพ หากมีการเปลี่ยนแปลงผู้ให้บริการ เพื่อกำกับดูแลไม่ให้เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันระหว่างการใช้บริการ

5. กรณีที่อนุญาตให้เกิดการควบรวม ขอให้ กสทช. กำหนดมาตรการเฉพาะให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการแยกได้จริง กล่าวคือ มีบริการโทรศัพท์มือถือ และบริการอินเทอร์เน็ตที่ขายแยกเฉพาะตัว โดยมีปริมาณ ความเร็ว และคุณภาพที่สมเหตุสมผล ภายใต้ค่าบริการที่เข้าถึงได้ ไม่สูงกว่าราคาที่ขายพ่วงมากจนเกินไป