'ภูมิศิษฐ์' ยื่นฟ้องประธาน กสทช. เหตุละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

30 ก.ย. 2566 | 11:00 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2566 | 11:08 น.

รองเลขาธิการ กสทช. “ภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ” ยื่นฟ้องประธาน กสทช. ต่อศาลอาญาทุจริตฯ มาตรา 157 เหตุละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เป็นจำเลย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 เหตุจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากกรณีที่ที่ไม่ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งผู้ช่วย ศาสตราจารย์ ภูมิศิษฐ์ ตามมติ กสทช. ครั้งที่ 13/2566 ตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการรักษาการแทนฯ ข้อ 6 ที่ประธานกรรมการ กสทช. มีหน้าที่ต้องแต่งตั้งรองเลขาธิการโดยความเห็นชอบของ กสทช.เป็นผู้รักษาการแทน

 

โดยกรณีดังกล่าวเกิดจากมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 ที่ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ฯ กับนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล จากกรณีผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการกรณีสำนักงาน กสทช. สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ปรากฎว่าผู้รับใบอนุญาต IPTV จาก กสทช. ไม่สามารถถ่ายทอดได้และเป็นการผิดจากวัตถุประสงค์ของการให้เงินสนับสนุน และเห็นชอบให้เปลี่ยนตัวรองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. โดยเห็นชอบให้แต่งตั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูมิศิษฐ์ เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ในระหว่างการสอบสวน เนื่องจากเป็นรองเลขาธิการ กสทช. ที่มีอาวุโสสูงสุด ตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการรักษาการแทนฯ แต่ต่อมากลับมีข่าวประชาสัมพันธ์ จากงานเลขานุการประธาน กสทช. ในทำนองการเสนอข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 ก่อให้เกิดคววามแตกแยกในหมู่พนักงาน กสทช. เกิดการกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาพร้อมทั้งประกาศว่า ประธาน กสทช. ยังไม่ได้มีคำสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งนายไตรรัตน์ และยังไม่มีคำสั่งแต่งตั้งนายภูมิศิษฐ์ ให้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. แทน โดยนายไตรรัตน์ ยังเป็นรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่และมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเลขาธิการ กสทช. ทุกประการ ซึ่งในระหว่างนั้น นายไตรรัตน์ ได้ลงนามคำสั่งต่างๆ ในฐานะรักษาการเลขาธิการ กสทช. อยู่เช่นเดิมย้าย รวมถึงลงนามยกเลิกคำสั่งให้มีการสออบสวนตนเองอีกด้วย

 

ซึ่งนอกจาก ประธาน กสทช. จะไม่ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูมิศิษฐ์ ตามมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 แล้ว ยังมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในการปฏิบัติหน้าที่ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูมิศิษฐ์ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อหน้าที่ราชการ ดังนั้น การกระทำของจำเลย (ประธาน กสทช.) จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยเป็นการประพฤติมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อตำแหน่งหน้าที่การงานของโจทก์ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูมิศิษฐ์) ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172