สว. อัด กสทช. กลางสภา ปมขัดแย้งภายใน

11 ต.ค. 2566 | 10:55 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ต.ค. 2566 | 11:00 น.

สว. รุมอัด กสทช. กลางสภา ปมขัดแย้งภายใน ร้าวลึกเกินเยียวยา ด้าน 4 บอร์ด ลุยร้อง นายกฯ

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2566 มีการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 21 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ณ ห้องประชุมวุฒิสภา โดยมีวาระสำคัญ เรื่องที่เสนอใหม่เกี่ยวกับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกอบด้วย รายงานผลการปฏิบัติงาน กสทช. ประจำปี 2565 และรายงานการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ประจำปี 2565

ด้าน กสทช. มี คณะกรรมการ กสทช และ สำนักงาน กสทช. ร่วม 11 คน เข้าร่วมชี้แจงต่อวุฒิสภา นำโดย นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช และกรรมการกสทช ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, พิรงรอง รามสูต, ศุภัช ศุภชลาศัย, ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. และคณะ

โดย ประธาน กสทช. ได้เริ่มกล่าวรายงานการดำเนินงานของ กสทช. เรื่องเร่งด่วน การจัดทำระบบการแจ้งเตือนภัยร่วมกับผู้ประกอบการ, การแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. โดยยึดระเบียบอย่างเคร่งครัด 

จากนั้น สมาชิกวุฒิสภารวมกว่า 10 คน ลุกขึ้นมาอภิปรายการทำงานของ กสทช. โดยส่วนใหญ่เป็นทิศทางเดียวกัน คือ ยังไม่เห็นผลงานของกสทช. อย่างเป็นรูปธรรม งบประมาณของรัฐที่ได้ไปนั้น ไม่ถูกนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ, แพลตฟอร์ม Telehealth, การป้องกันปราบปรามแก็งค์คอลเซ็นเตอร์ที่ระบาดหนัก เดือดร้อนผู้บริโภค, การจัดระเบียบโทรทัศน์ และ OTT ที่ไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเรื่อง Must have กับ Must Carry จนเกิดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์บอลโลก และกระทบต่อสิทธิ์ของประชาชน ตลอดจนการใช้งบประมาณจำนวนมากในการเดินทางไปต่างประเทศ

โดยเรื่องที่เป็นวาระสำคัญที่สุด คือ ปัญหาความขัดแย้งภายใน กสทช. เอง ทั้งประธาน กรรมการ และสำนักงาน จนขาดความเป็นเอกภาพและเสถียรภาพในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน

 พลอาการตรี เฉลิมชัย เครืองาม สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า “คงต้องมีหน่วยงานหรือองค์กรใดหาข้อยุติเรื่องของคณะกรรมการ กสทช.ที่ฟ้องกันไปมา ผมไม่เคยเห็นคณะกรรมการฟ้องกันเอง กรรมการฟ้องเลขาฯ ประชาชนได้ประโยชน์อะไร ขอให้คิดใหม่ทำใหม่ อีกทั้งเรื่อง ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ single emergency number (SEN) กำเนิดขึ้น โดยมติคณะรัฐมนตรี ปี 2561 กำหนดให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช) เป็นเจ้าภาพไปดูแล โดยเงินกองทุนวิจัยและพัฒนาโดย กสทช. ให้ทุนประเดิมแก่ สตช.ไปจัดการเรื่องนี้ 3,340 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายดำเนินการต่อเนื่องกันอีก 5 ปี (2562-2567) จำนวน 4,232 ล้านบาท โดยรวมทั้งสิน 7,572 ล้านบาท ปีหน้าจะสิ้นสุดตามมติคณะรัฐมนตรี ท่านประธาน กสทช. บอกว่าทำหนังสือถามไปที่ สตช. เรื่องใหญ่ขนาดนี้ปล่อยมาจนจะปีสุดท้าย ประชาชนยังไม่เห็นศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติเลย”

พลเอก สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิวุฒิสภา อภิปราย กสทช ถึงกรณีงบเดินทางต่างประเทศ ที่เป็นข้อกังขาของสังคมว่า “การเดินทางไปต่างประเทศของกรรมการ กสทช ต้องไม่เป็นความลับ ต้องเปิดเผย โปร่งใส แสดงให้เห็นการใช้เงินปฏิบัติหน้าที่อย่างไร ผมมีข้อสังเกต งบการเดินทาง ปี 2565-2566 ว่า ปี 2566 ใช้งบ 40 ล้านบาท บางทริปเดินทาง 34 คน ไปโรมาเนีย ใช้งบ 15 ล้านบาท บางเดือน บอร์ด กสทช เดินทางต่างประเทศทุกท่าน ไม่มีใครทำงานอยู่ไทยเลย

บางทริป ท่านก็แบ่งกันเดินทางไปสเปน ทีละ 7-8 คน รวม 24 คน ใช้งบไปอีก 10.5 ล้านบาท สังเกต บางคนไปกับบางคนบ่อยๆ เป็นกลุ่มเดิมๆ เห็นได้ชัดว่า ภายใน กสทช แบ่งแยกเป็นกลุ่ม พวกใครพวกใคร

สิ่งที่เกิดขึ้น กระทบภาพลักษณ์ประธาน กสทช. สังคมมีคำถามต่อการทำหน้าที่ของประธาน และการเป็นผู้นำองค์กร อย่าลืมว่า ที่มาของ กสทช. มาจากการสรรหาและเห็นชอบโดย สว. มันจึงผูกพันกับ สว. เมื่อมีปัญหา สว. ต้องรับผิดชอบด้วย หาก กสทช. ยังไม่สามารถจัดการปัญหาภายในได้ ต่อไป ต้องเป็นหน้าที่ ของ สว. ที่ต้องเข้าไปจัดการ เวลานี้ ต้องหยุดเรื่องความขัดแย้งเป็นอย่างแรก สว. ก็ใกล้จะหมดวาระแล้ว เราต้องการเห็นความปรองดอง”

ด้าน วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายพุ่งเป้าไปที่ปมขัดแย้งภายในบอร์ด กสทช. ว่า “การทำงานของ กสทช. กตป. ต้องเป็นหนึ่งเดียว ถ้ายังทะเลาะขัดแย้งกันอยู่ ก็ล้มเหลว ทั้ง กสทช. และ กตป. มาจาก สว. โดยตรง สว. เป็นคนเลือกขึ้นมา เมื่อมีเรื่องปัญหา สว. ก็ต้องพูดตรงๆ ชาวบ้านถามผมว่า เลือกคนแบบนี้ มาทะเลาะกัน หรือมาทำงานกันตามหลักการ ประธานจะคุมเสียงส่วนใหญ่ เสียงข้างน้อยมีบ้าง แต่ประนีประนอมกันได้ แต่สำหรับ กสทช. ประธาน มีแค่ 3 เสียง อีกซีกมี 4 เสียง แล้วมันจะเดินยังไง

องค์กรอื่นขัดแย้งกัน ไม่มีการฟ้องกันหรอก แต่นี่ เลขาฯ ฟ้องกรรมการ กรรมการฟ้องเลขาฯ กรรมการฟ้อง ประธาน ฟ้องกันไปมา องค์กรจึงพัง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ ประชาชน รัฐบาลก็พัง งานก็เดินไม่ได้ ไม่ได้รับความเชื่อถือ ศรัทธาจาก ประชาชน ผลงานมีแค่ไหน แต่ถ้าท่านทะเลาะกัน ประชาชนก็ไม่ศรัทธาต่อองค์กรนี้ ประชุมมีวาระค้าง 20-30 วาระ นัดประชุมกัน ทะเลาะกัน ล่มประชุมซะอย่างงั้น 
พูดกันแบบกัลยาณมิตร ประธานต้องคุมเสียงข้างให้ได้ อย่างรัฐบาลต้องคุมเสียงข้างมาก ถ้าไม่ได้ก็ต้องลาออก ในนาม สว. เราเสียใจมาก มันหมดเวลาแล้วในการทะเลาะกัน กตป. ต้องห้ามทัพ ศึกนี้ ใหญ่หลวง ถ้าห้ามไม่ได้ 5G แก็งค์คอลเซ็นเตอร์ ศูนย์แจ้งเหตุคุ้มครองประชาชน ก็คงไม่เกิด”

ด้าน สายัณห์ สวัสดิ์ศรี กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานด้านกิจการกระจายเสียง ชี้แจงว่า “ปัจจุบัน ภาพลักษณ์ กสทช. ประสบปัญหามีความไม่โปร่งใสในบางกรณี นับตั้งแต่ปี 63 ท่านไตรรัตน์รักษาการเลขาฯ  ปี 65 บอร์ดชุดใหม่เข้ามา ก็ยังไม่มีข้อยุติ เรื่องเลือกเลขาฯ การลงมติอนุมัติควบรวมกิจการ ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นใน กสทช. ตลอดจนการตรวจสอบความผิดเรื่องลิขสิทธิ์บอลโลก ตอนนี้ กสทช. มีฟ้องกันอยู่ 5 รายการ 1. ทรูดีแทค ฟ้อง กสทช. ด้านโทรทัศน์ 2. ไตรรัตน์ ฟ้อง บอร์ด 4 ท่าน และรองเลขาธิการ 3. บอร์ด 4 คน ฟ้องประธาน, 4. ผู้สมัคร เลขาฯ กสทช. ฟ้อง ปธ, 5. ภูมิศิษฐ์ รองเลขาธิการ ฟ้อง ประธาน สถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน ผมขอเสนอแนะให้ กระทรวง DE เป็นคนกลางเข้ามาคลี่คลาย”

จากนั้น วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ลุกขึ้นมาซักถามต่อว่า “ผมยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ เรื่องความขัดแย้งภายใน กสทช. ท่านช่วยตอบ สว. ได้มั้ย ว่าปัญหาของความไม่ปรองดองของบอร์ด ทั้ง 7 คน ท่านจะทำยังไง” 

สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ตอบสั้นๆ เพียงว่า “กราบขอบคุณกัลยาณมิตร และผมเองมีกัลยาณมิตรนั่งอยู่ข้างบนด้วยกัน (หมายถึงกรรมการ กสทช.) ผมพยายามที่จะปรับปรุงทัศนคติ และความร่วมมือกัน”

ด้าน ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ หนึ่งใน 7 กรรมการ กสทช. ชี้แจงต่อว่า “รับทราบถึงความห่วงใย ส่วนตัวไม่มีข้อขัดแย้งใดกับประธาน อาจจะเป็นปัญหาเรื่องการตีความ ข้อกฎหมายที่อาจแตกต่างกัน เช่น การแต่งตั้งเลขาฯ กสทช. ตาม มาตรา 61 ประธานต้องแต่งตั้งเลขาฯ ตามความเห็นชอบของ กสทช. แต่ท่านประธานมองว่า ท่านต้องมีอำนาจในการเลือกเลขาเอง นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆ ที่พวกผมรู้สึกว่า เป็นข้อขัดแย้งในทางกฎหมาย หรือเรื่องการพิจารณางบประมาณ ตามหลักการ กสทช. ต้องเป็นผู้อนุมัติงบ ส่วนการจัดสรรเป็นหน้าที่ของสำนักงานฯ ซึ่งที่ผ่านมา จำเป็นต้องให้ กสทช. พิจารณางบก่อนส่งให้ DE แต่ครั้งนี้ ดันมีการตีความกฎหมายใหม่อีกว่า กสทช. ไม่ต้องพิจารณา สำนักงานส่ง DE เลย นี่ก็คือตัวอย่างปัญหา เป็นเรื่องยาก ที่ผมจะยอมรับ เราจึงต้องพึ่ง ศาลปกครอง ในการพิจารณาข้อกฎหมาย”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา กรรมการ กสทช. 4 ราย ได้แก่ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ,รศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ,รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ได้ทำหนังสือ ‘ด่วนมาก’ ที่ เลขที่ สทช.1002/35271 ส่งถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เพื่อขอความอนุเคราะห์ดำเนินการทบทวนการบรรจุวาระเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายของสำนักงาน กสทช. ประจำปี 2567 กรอบวงเงิน 5,282.50 ล้านบาท เนื่องจากไม่มีการเสนอให้ บอร์ด กสทช. พิจารณาก่อน ตามระเบียบ