ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินของเมืองซานติเอโก นครหลวงของประเทศชิลี มีผู้โดยสารโดยเฉลี่ย 2.2 ล้านคนต่อวัน นับเป็นช่องทางการขนส่งผู้โดยสารที่สำคัญ อีกทั้งยังได้รับการพัฒนา ปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการมาเป็นลำดับ ล่าสุดยังมีข่าวดีเกี่ยวกับความพยายามที่จะบริหารต้นทุนให้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีด้านพลังงานมาใช้เพื่อให้เครือข่ายรถไฟฟ้าใต้ดินแห่งนี้ ใช้พลังงานไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานหมุนเวียน อาทิ ลม และแสงแดด ถึง 60% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดโดยกำหนดกรอบของเวลาเอาไว้ที่ภายในสิ้นปี 2561
[caption id="attachment_58061" align="aligncenter" width="373"]
มิเชล บาเชเล็ต[/caption]
เมื่อเร็วๆนี้ นางมิเชล บาเชเล็ต ประธานาธิบดีชิลี ได้ประกาศถึงแผนการดังกล่าวอย่างเป็นทางการ โดยส่วนหนึ่งของถ้อยแถลงระบุว่า บริษัท ซันพาวเวอร์ฯ เอกชนผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานแสงอาทิตย์จากแคลิฟอร์เนีย จะเข้ามาเป็นพันธมิตรโครงการโดยจะเป็นผู้ติดตั้งระบบแผงโซลาร์เซลล์และสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับโครงการนี้ คาดว่าเมื่อแล้วเสร็จจะสามารถผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับรถไฟฟ้าใต้ดินแห่งนครซานติเอโกประมาณ 45% และนอกนั้น 18% จะเป็นกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีจากบริษัท ลาติน อเมริกา พาวเวอร์ฯ รวมมูลค่าการลงทุนติดตั้งเทคโนโลยีทั้งพลังงานลมและแสงอาทิตย์ที่ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 17,500 ล้านบาท
ผู้บริหารของซันพาวเวอร์ระบุว่า ในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์นั้นจะแล้วเสร็จพร้อมจ่ายกระแสไฟฟ้าในปี 2560 นายเอดูอาร์โด เมดินา รองประธานบริหาร ซันพาวเวอร์ กล่าวว่า รถไฟฟ้าใต้ดินแห่งซานติเอโกจะเป็นระบบรถไฟใต้ดินสาธารณะ "แห่งแรกของโลก" ที่ใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก และเหตุผลที่ชิลีมีความเหมาะสมที่จะติดตั้งระบบนี้ก็เพราะว่า รัฐบาลมีนโยบายด้านพลังงานที่โปร่งใส อีกทั้งยังมีแสงแดดเจิดจ้าเกือบตลอดทั้งปี ทั้งนี้ ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินของชิลีนั้น ได้ชื่อว่า "ยิ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอเมริกาใต้" เมื่อพิจารณาในแง่ระยะทางรวม
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,162 วันที่ 2 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559