นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA เปิดเผยว่า หลังจากที่พันกำหนดระยะเวลาการแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจ สำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไปตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ที่ได้มีการประกอบธุรกิจ ก่อนวันที่ 21 กันยายน 2566 แล้วนั้น ทาง ETDA ได้รับความร่วมมือจากแพลตฟอร์มทั้งของไทยและต่างชาติ ที่ครอบคลุมทั้ง 15 ประเภทบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ดำเนินการเข้ามาแจ้งข้อมูลแล้ว ทั้งสิ้น 835 แพลตฟอร์ม
“ETDA ในฐานะ Regulator ได้มีการสื่อสารไปยังแพลตฟอร์มที่เข้าข่ายตามกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ต้องขอขอบคุณทุกแพลตฟอร์ม ที่ให้ความร่วมมือในการเข้ามาแจ้งข้อมูล ภายใต้กฎหมาย DPS (พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565) ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่าง ETDA และแพลตฟอร์มดิจิทัล ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดแนวทาง มาตรการในการดูแล ช่วยเหลือ แก้ปัญหาที่เกิดจากการใช้งานจากผู้ใช้บริการ และนำไปสู่การยกระดับการให้บริการของแพลตฟอร์มดิจิทัลให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรมมากขึ้น มุ่งเน้นความน่าเชื่อและความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ ที่จะเป็นอีกหนึ่งกลไกในการช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศในระยะยาวอย่างยั่งยืน”
สำหรับการดำเนินการหลังจากนี้ ETDA จะแบ่งเป็น 3 ส่วนสำคัญ คือ
1) การตรวจสอบรายชื่อแพลตฟอร์มทั่วไป ที่เข้าข่ายลักษณะตามกฎหมาย DPS มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ที่ยังไม่ได้ดำเนินการแจ้งข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด โดยทาง ETDA จะดำเนินการส่งหนังสือแจ้งให้แพลตฟอร์มดิจิทัล เร่งดำเนินการชี้แจงเหตุผลของการไม่ดำเนินการแจ้งข้อมูลตามระยะเวลาที่กำหนด ก่อนดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายในลำดับถัดไป
2) วิเคราะห์ข้อมูลจากแพลตฟอร์มเพิ่มเติม เพื่อจัดกลุ่มธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลว่า แพลตฟอร์มใดบ้างที่เข้าข่ายแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่ ตามมาตรา 18 (1) ที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายแต่ละประเภทบริการเกิน 300 ล้านบาทต่อปี หรือ รวมทุกประเภทเกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี หรือ จำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ย (AMAU) เกิน 10% ของจำนวนประชากร ที่จะต้องมีหน้าที่เพิ่มเติมตามมาตรา 19 รวมถึงเพื่อพิจารณาดูว่า แพลตฟอร์มที่แจ้งข้อมูลใดบ้างที่เข้าข่ายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะตามความเสี่ยง ตามมาตรา 18 (2) และมีผลกระทบในระดับสูง ตามประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะต้องมีหน้าที่เพิ่มเติมตามมาตรา 20 ก่อนประกาศรายชื่อต่อไป
3) เตรียมให้เครื่องหมาย Trust Mark สำหรับแพลตฟอร์มที่ได้มีการแจ้งข้อมูลมายัง ETDA แล้ว เพื่อสร้างการรับรู้ และความเชื่อมั่นต่อผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ สำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีการเริ่มให้บริการหลังวันที่ 21 สิงหาคม 2566 จะต้องแจ้งการประกอบธุรกิจต่อ ETDA ก่อนเริ่มการประกอบธุรกิจ มิเช่นนั้น จะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
ในโอกาสนี้ ทาง ETDA ต้องขอขอบคุณทุกแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ได้ให้ความร่วมมือแจ้งข้อมูลมายัง ETDA ทั้ง 835 แพลตฟอร์ม ซึ่งประเภทแพลตฟอร์ม 5 ประเภทที่มีการเข้ามาแจ้งมากที่สุด คือ 1) บริการตลาดออนไลน์ (online marketplace) 2) บริการสื่อสารออนไลน์ (Online Communication) 3) บริการรวบรวมและเผยแพร่เนื้อหาข่าวสาร (News Aggregator) 4) บริการ Sharing Economy Platform และ 5) บริการคลาวด์ (Cloud service)
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่า OTT ยักษ์ใหญ่ต่างชาติ ทั้ง เฟซบุ๊ก กูเกิ้ล ไลน์ ติ๊กต๊อก แกร็บ ช้อปปี้ ลาซาด้า เข้ามาจดทะเบียนตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว