กสทช.คลอดเกณฑ์ประมูลดาวเทียมรอบใหม่ ไม่เคาะราคา

31 ก.ค. 2567 | 10:50 น.

กสทช.คลอดเกณฑ์ประมูลดาวเทียมรอบใหม่ ไม่เคาะราคา หวังดึงเอกชนร่วมประมูล พร้อมเห็นชอบให้ยึดหลักการรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม

นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า วันนี้ (31 ก.ค.67) ที่ประชุมกสทช.มีมติ 7:0 เห็นชอบให้ยกเลิกการประมูลดาวเทียม ตำแหน่งวงโคจร 50.5-51 และ 142 E ด้วยการเคาะราคา เนื่องจากไม่มีเอกชนเข้ามายื่นข้อเสนอการประมูล และเห็นชอบให้ยึดหลักการรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม

โดยมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ใหม่จัดสรรสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมโดยวิธีการจัดสรรสิทธิโดยตรงแบบเปิดกว้าง (open direct award) ที่จะพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะจากการเปรียบเทียบคุณสมบัติและข้อเสนอ (beauty contest) จากผู้สนใจเข้าร่วมคัดเลือก

นอกจากมีมติเร่งผลักดันหลักเกณฑ์ใหม่ข้างต้นแล้ว บอร์ด กสทช. ยังมีมติให้สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือไปสอบถามคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลในการใช้วงโคจรดาวเทียมดังกล่าว ภายใน 5 วันทำการ และให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือไปยังสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เพื่อขอขยายระยะเวลาการใช้งานข่ายงานดาวเทียมในวงโคจรดังกล่าวออกไป เนื่องจากอยู่ระหว่างการดำเนินการคัดเลือกผู้ได้รับอนุญาต

 

กสทช.คลอดเกณฑ์ประมูลดาวเทียมรอบใหม่ ไม่เคาะราคา

 

นายสมภพ กล่าวว่า กสทช. จะไม่กำหนดเกณฑ์ แต่ให้เอกชนที่สนใจยื่นเสนอเงื่อนไขเข้ามา และแบบเปรียบเทียบคุณสมบัติและข้อเสนอจากผู้ร่วมคัดเลือก (beauty contest) โดยมุ่งเน้นการรักษาสิทธิวงโคจรและเน้นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ กสทช.จะพิจารณาเปรียบเทียบว่าข้อเสนอของผู้ประกอบการรายใดให้ความมั่นใจว่าจะรักษาสิทธิวงโคจรทั้ง 3 ตำแหน่งได้ และมีข้อเสนอที่ดีที่สุด โดยมีมติให้สำนักงาน กสทช. จัดทำร่างหลักเกณฑ์การจัดสรรสิทธิด้วยวิธีการดังกล่าวเสนอที่ประชุม กสทช. ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ก่อนที่จะนำไปรับฟังความคิดเห็นและประกาศใช้ต่อไป

อีกทั้งในระหว่างนี้ ยังมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์เพิ่มเติม กรณีแนวทางเลือกที่ กสทช.จะเป็นผู้ดำเนินการรักษาสิทธิเอง โดยให้ศึกษาทั้งข้อดีและข้อจำกัดในประเด็นต่างๆ อาทิ ข้อจำกัดด้านกฎหมาย ข้อจำกัดทางเทคนิค หรือข้อจำกัดอื่นๆ รวมทั้งงบประมาณที่จะต้องดำเนินการ และนำเสนอที่ประชุม กสทช. ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ก่อนการประชุมบอร์ด กสทช. ในวันนี้ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านกิจการดาวเทียม ได้พิจารณากรณีที่ไม่มีผู้สนใจเข้ายื่นขอรับอนุญาตฯ และได้มีมติ เสนอแนะวิธีการจัดสรรสิทธิแบบอื่น เพื่อให้สำนักงาน กสทช. เสนอต่อที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณา

สำหรับสิทธิวงโคจรดาวเทียมที่นำมาประมูล มีข้อจำกัดในการใช้คลื่นความถี่และการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยพื้นที่ให้บริการของวงโคจรดังกล่าวมีฟุตปรินต์ หรือ รัศมีสัญญาณในพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิกและในทวีปยุโรปและแอฟริกา ในขณะที่มีดาวเทียมต่างชาติหลายดวงที่ให้บริการใกล้กับตำแหน่งวงโคจรดังกล่าว

นอกจากจะส่งผลให้ผู้ประกอบการดาวเทียมไทยมีข้อจำกัดในการใช้งานคลื่นความถี่ได้น้อยลงแล้ว ย่านความถี่ดังกล่าว (C และ Ku) ยังเหมาะสำหรับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เท่านั้น ซึ่งหากจะนำไปใช้ในกิจการโทรคมนาคม เช่น การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก และจะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับผู้ให้บริการดาวเทียมในวงโคจรต่ำที่มีพื้นที่ให้บริการได้ทั่วโลก เช่น SpaceX OneWeb และ Amazon

ในการประมูลครั้งที่ผ่านมา บอร์ด กสทช. ได้ลดราคาขั้นต่ำของใบอนุญาตลง โดยวงโคจรตำแหน่ง 50.5-51 E ลดจาก 374 ล้านบาท เหลือ 41 ล้านบาท และวงโคจร 142 E ลดจาก 189 ล้านบาท เหลือ 23 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้มีหนังสือตอบกลับสำนักงาน กสทช. ที่ขอรับทราบนโยบายของรัฐบาลสําหรับความต้องการและความพร้อมในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐสำหรับสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในตำแหน่งดังกล่าว

ได้รับคำตอบว่า ตำแหน่งวงโคจร 50.5 51 และ 142 องศาตะวันออก ไม่อยู่ในชุดข่ายงานดาวเทียมตามนโยบายการดำเนินงานดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ ที่ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการไปเรียบร้อยแล้ว