การเสวนาในหัวข้อ “Development & Future of AI & Data Centers in ASEAN” ภายในงาน Asean Economic Outlook 2025 ที่จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 ได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับศักยภาพของเทคโนโลยี AI และการขยายตัวของดาต้าเซ็นเตอร์ในภูมิภาคอาเซียน โดยการเสวนาครั้งนี้นำเสนอวิสัยทัศน์จากผู้นำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและการสื่อสาร
นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไปของเอไอเอส มองว่า ดาต้าเซ็นเตอร์และศักยภาพการประมวลผลเปรียบเสมือนสมองของประเทศ การลงทุนในดาต้าเซ็นเตอร์นั้นเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศทั้งในด้านการให้บริการลูกค้าและการแข่งขันทางเศรษฐกิจ โดยการขยายตัวของดาต้าเซ็นเตอร์จะยิ่งทำให้ประเทศสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดและสร้างโอกาสใหม่ได้มากขึ้น
AI ยังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงาน ซึ่งเอไอเอสพบว่าการใช้ AI ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 15% ขณะเดียวกัน การพัฒนา AI ยังช่วยส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (SMEs) กว่า 3 แสนรายในประเทศไทย ในการพัฒนาสินค้าและบริการ ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาด
ไม่เพียงแค่ภาคธุรกิจเท่านั้น ภาคการศึกษาก็สามารถได้รับประโยชน์จาก AI เช่นกัน โดยการนำ AI มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ทำให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาเทียบเท่ากับเด็กในเมือง ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเพิ่มคุณภาพการเรียนรู้
ภาคการผลิตเองก็ได้รับประโยชน์ชัดเจนจาก AI ในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ลดการพึ่งพาแรงงาน และยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและการกระจายสินค้าระดับภูมิภาค
ประเทศไทยมีความได้เปรียบในด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะเครือข่าย 5G ที่มีความพร้อมในการรองรับการขยายตัวของดาต้าเซ็นเตอร์และการประมวลผลข้อมูล ซึ่งเอไอเอสได้ขยายเครือข่าย 5G ครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นไปอย่างกว้างขวาง
นายชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหารกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น ชี้ว่า AI และดาต้าเซ็นเตอร์มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย การลงทุนในดาต้าเซ็นเตอร์และการประมวลผลข้อมูลทำให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้สูงขึ้น
กลุ่มทรูยังได้ริเริ่มแนวคิด “Responsible AI” เน้นการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจต่าง ๆ ของกลุ่มทรู ทั้งการยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าและการประหยัดพลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกและบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573
อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะมีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและเครือข่าย 5G แต่นายปรัธนากล่าวเสริมว่า การพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยยังต้องเร่งขยายให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับการเติบโตของธุรกิจและการประมวลผลข้อมูลที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ความสำคัญของการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและกฎหมายที่ชัดเจนในการจัดการข้อมูลก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดนักลงทุนเข้าสู่ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน
ทั้ง เอไอเอส และ ทรู ต่างเห็นพ้องว่า AI และดาต้าเซ็นเตอร์มีศักยภาพในการเชื่อมโยงประเทศในอาเซียนเข้าด้วยกัน การใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบในระดับภูมิภาคไม่เพียงแต่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ แต่ยังช่วยสร้างความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ในอนาคต การสร้างกรอบจริยธรรมด้าน AI ที่เข้มงวดและการคุ้มครองข้อมูลจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ทั้งนี้ อาเซียนยังมีโอกาสในการใช้ AI เพื่อยกระดับเศรษฐกิจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการแก้ไขปัญหาในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การสาธารณสุข การศึกษา และการผลิต
นายอรรณพ ศิริติกุล Director, Google Cloud Thailand กล่าวว่า กูเกิลได้ประกาศลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศไทยกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในประเทศไทย (Infrastructure) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ และศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในกรุงเทพฯ และชลบุรี โดยมองว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและการพัฒนาทักษะของคนในภูมิภาคเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของอาเซียน
กูเกิลยังมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีให้กับครูและพนักงานในภูมิภาค โดยในปีที่ผ่านมาได้เทรนบุคลากรกว่า 20,000 คน และมีแผนที่จะเทรนเพิ่มอีก 150,000 คนในปีถัดไป การพัฒนาทักษะเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญในการทำให้เทคโนโลยี AI และดาต้าเซ็นเตอร์สามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือการผลักดันให้รัฐบาลเป็น “รัฐบาลดิจิทัล” (Government Ecosystem) เช่น การมีระบบคลาวด์ที่เป็นสาธารณะ หรือพลับบลิคคลาวด์ คลาวด์ไพรเวท ตลอดจนคลาวด์เซ็นเตอร์ มีระบบความปลอดภัยสูงๆ เพื่อใช้รันข้อมูลภายในประเทศ
อย่างไรก็ดี อุปสรรคของการพัฒนาเอไอในประเทศอาเซียนคือ การมีกฎหมายที่ต่างกัน หรือบางประเทศก็ไม่มีกฎกติกาด้านเอไอที่รองรับธุรกิจ ทำให้ธุรกิจในประเทศที่ต้องการจะอินโนเวชันไม่สามารถทำได้ ดังนั้น ในเรื่องระเบียบการใช้งานด้านคลาวด์และเอไอ ประเทศอาเซียนจะต้องร่วมมือกันจัดทำขึ้นมาให้เป็นนโยบายทิศทางเดียวกัน เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน เพื่อดึดดูดในนักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นและแข่งขันระดับโลกได้