กลุ่มบริษัทฮาวาสริเวอร์ออคิดฯ เปิดเผยรายงานดิจิตอล แลนด์สเคป" กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี เป็นตลาดที่น่าสนใจ เผยธุรกิจ "โมบายมันนี่"โอกาสทอง ชี้ผู้ให้บริการน้อยราย สวนทางความต้องการผู้บริโภคที่นับวันเพิ่มขึ้นตามพฤติกรรมการใช้มือถือ ขณะที่ด้านสื่อสารการตลาด ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนเพื่อก้าวทันเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละประเทศที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี
[caption id="attachment_62138" align="aligncenter" width="700"]
ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเอเซียน[/caption]
นายสันติพงศ์ พิมลแสงสุริยา ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทฮาวาสริเวอร์ออคิดฯ ผู้ให้ บริการธุรกิจสื่อสารการตลาดในกลุ่มซีแอลเอ็มวี กลุ่มประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ,สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสหภาพเมียนมา และเวียดนาม กล่าวถึงภาพรวมตลาดผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในแต่ละประเทศว่า ประเทศกัมพูชามีโอเปอเรเตอร์มือถือ 7 ราย ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ 24 ล้านเลขหมาย หรือ 157% ของจำนวนประชากร ส่วนสปป.ลาวมีผู้ให้บริการมือถือ 5 ราย ผู้ใช้บริการ 5 ล้านเลขหมาย หรือ 90% ของประชากร ขณะที่เมียนมา มีผู้ให้บริการมือถือ 3 ราย ผู้ใช้บริการ 40 ล้านเลขหมาย หรือคิดเป็น 79.6% ของจำนวนประชากร และประเทศเวียดนาม มีผู้ให้บริการมือถือ 5 ราย มีผู้ใช้บริการ 143 ล้านเลขหมาย หรือคิดเป็น 142.99% ของจำนวนประชากร
อย่างไรก็ดีจากอัตราการใช้โทรศัพท์มือถือที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8% ในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ทำให้เห็นโอกาสในการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าและบริการด้านโทรคมนาคมอย่างน่าจับตา เช่น การจำหน่ายอุปกรณ์เสริม ผู้ให้บริการเติมเงิน โมบายแบงกิ้ง โดยเฉพาะธุรกิจโมบายมันนี่ในกัมพูชาและพม่า ที่มีอัตราการใช้งานมือถือเติบโตสูงขึ้นมาก ที่กัมพูชามีผู้ใช้มือถือเพิ่มขึ้นถึง 27% และที่พม่าเมื่อโมบายแบงกิ้ง เปิดตัวอย่างเต็มตัวจะเติบโตมากกว่า 100% และพฤติกรรมผู้บริโภคมีแนวโน้มที่ดีในการใช้บริการ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่นิยมเปิดบัญชีเงินฝาก และมีอายุน้อยจึงทำให้การใช้เทคโนโลยีเป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้บริโภค โมบายมันนี่จึงเป็นสิ่งที่จะตอบความต้องการของผู้บริโภคเมื่อต้องทำธุรกรรมการเงิน"
สำหรับผู้ประกอบการที่จะเข้าไปรุกธุรกิจโมบายมันนี่ รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี จำเป็นต้องศึกษาองค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อประกอบการลงทุน เช่น ด้านกฎหมายเกี่ยวกับธนาคาร, ด้านเทคโนโลยีความปลอดภัย, การสื่อสารและการให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้า เพราะเป็นสินค้าใหม่ รวมทั้งการเตรียมแผนงานสื่อสารการตลาดเพื่อเข้าถึงผู้บริโภค เช่น การใช้สื่อโฆษณา การจัดกิจกรรมการตลาด แผนงานผ่านสื่อ (Above the line) อาทิ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือกรณีไม่ผ่านสื่อ (Below the line) เช่น การออกเดินสายหาเสียงพบปะคนในพื้นที่การจัดกิจกรรม ตลอดจนแคมเปญดิจิตอล เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายโดยตรง เช่น ผู้ให้บริการโมบายแบงกิ้งที่กัมพูชายี่ห้อ Wing ที่เจาะการสื่อสารและการตลาดร่วมกับไมโคร ไฟแนนซ์ เพื่อเจาะตลาดล่างผ่านทางแมสมีเดีย และช่องทางดิจิตอล
ในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี แม้ในปัจจุบันสื่อทีวี, สิ่งพิมพ์ และสื่อนอกบ้าน ยังถือเป็นมีเดียหลัก อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ประกอบการจะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้นั้นจะต้องศึกษาและเลือกใช้สื่อและแคมเปญที่สามารถเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอ รวมถึงคอนเทนต์ในการสื่อสารเพื่อให้ผู้บริโภคเลือกสินค้าและบริการนั้น ๆ มาตอบโจทย์ความต้องการ โดยเฉพาะในยุคที่การใช้สื่อดิจิตอลเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันมากขึ้นในขณะนี้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,165 วันที่ 12 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559