"แอบอัดเสียงคู่สนทนา” ผิดกฎหมายไหม? ย้อนอ่านคำพิพากษาฎีกาที่นี่

13 พ.ย. 2567 | 07:07 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2567 | 07:15 น.

ย้อนอ่าน “คำพิพากษาฎีกาที่ 3782/2564” วางหลักชัด การแอบบันทึกเสียง หรือ อัดเสียงการสนทนาโดยอีกฝ่ายไม่รู้ตัว แม้จะใช้เป็นหลักฐานฟ้องหมิ่นประมาท ก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ศาลไม่รับฟังเป็นพยานหลักฐาน

“การแอบอัดเสียงสนทนาผิดกฎหมายหรือไม่?” เป็นคำถามที่หลายท่านคงสงสัยว่า การแอบบันทึกเสียงของการพูดคุยหรือสนทนาของบุคคลหนึ่งหรือหลายคนโดยที่บุคคลนั้นไม่รู้ตัวหรือไม่ได้รับการแจ้งล่วงหน้า ทำได้หรือไม่ 

ซึ่งการแอบอัดเสียงมักเกิดขึ้นในหลายสถานการณ์ และปรากกฎเป็นข่าว “คลิปเสียง” อยู่หลายครั้งหลายครา เช่น ในแอบอัดเสียงการพูดคุยส่วนตัว การแอบอัดเสียงการประชุมทางธุรกิจ หรือการแอบอัดเสียงสนทนาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องสำคัญหรือเรื่องละเอียดอ่อน

 

 

ยุคปัจจุบัน “การแอบอัดเสียง” สามารถกระทำได้ผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆได้อย่างง่ายดาย เช่น โทรศัพท์มือถือที่มีแอปพลิเคชั่นพื้นฐาน เครื่องบันทึกเสียงขนาดเล็ก หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ 

ซึ่งการกระทำแอบบันทึกเสียงนี้อาจมีจุดประสงค์ต่างกัน เช่น ต้องการนำไปใช้เป็นหลักฐาน การเก็บข้อมูล หรือการสืบหาข้อเท็จจริง 

แต่กระนั้นก็มีคำถามว่า แท้จริงแล้ว “การแอบอัดเสียง” โดยไม่ได้รับความยินยอมหรือโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้ากับคู่สนทนา และมีการเผยแพร่เสียงเหล่านั้นโดยไม่ได้รับอนุญาตผิดกฎหมายหรือไม่?

“ฐานเศรษฐกิจ” พบข้อมูล จากวารสารคำพิพากษาศาลฎีกา สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 เปิดเผย "คำพิพากษาฎีกาที่ 3782/2564 เรื่อง หมิ่นประมาท" ระบุเนื้อหาใจความว่า...

“การกระทำของนาย ธ. ที่แอบนำเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่มาทำการบันทึกเสียงการสนทนาระหว่างจำเลยกับนาย ธ. และคู่สนทนาในระหว่างการพบปะพูดคุยกัน โดยจำเลยไม่ทราบว่าขณะที่ตนสนทนาอยู่นั้น การสนทนาได้ถูกบันทึกลงในโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้ว ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของจำเลยอย่างชัดแจ้ง

จึงเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบซึ่งต้องห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 แม้หลักกฎหมายดังกล่าวจะใช้ตัดพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มิให้เจ้าพนักงานของรัฐแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ

แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ไม่ได้บัญญัติห้ามมิให้นำไปใช้กับการแสวงหาพยานหลักฐานของบุคคลธรรมดา จึงนำไปใช้บังคับแก่กรณีที่เอกชนผู้เสียหายเป็นผู้ได้พยานหลักฐานนั้นมาจากการกระทำโดยมิชอบด้วย
ส่วนเหตุยกเว้นให้สามารถรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังและต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดีโดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังที่กฎหมายกำหนดไว้ คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท อันเป็นการพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกัน และเป็นความผิดอันยอมความได้

พฤติการณ์ของความผิดในคดีจึงมิใช่เรื่องร้ายแรงที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนโดยส่วนรวม ทั้งลักษณะของคดียังอยู่ในวิสัยที่โจทก์ทั้งสองสามารถหาพยานหลักฐานด้วยวิธีการอันสุจริต ชอบด้วยกฎหมาย มาพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้

การอนุญาตให้รับฟังพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองได้มาจากการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบเท่ากับอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองนำพยานหลักฐานมาเพิ่มเติมในส่วนที่ตนนำสืบบกพร่องไว้ เพื่อจะลงโทษจำเลยแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งที่เป็นการละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคลของจำเลยและกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นการขัดต่อหลักการพื้นฐานของการดำเนินคดีอาญาโดยทั่วไป การรับฟังพยานหลักฐานนั้น มิได้เป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรม แต่กลับจะเป็นผลเสียที่กระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนมากกว่า

จึงไม่อาจรับฟังบันทึกเสียงสนทนาและข้อความจากการถอดเทปการสนทนาเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้”

 

ที่มา : คำพิพากษาฎีกาที่ 3782/2564