ในโลกยุคดิจิทัลที่ข้อมูลกลายเป็นทรัพยากรมีค่าไม่ต่างจากน้ำมันในศตวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ โดยตั้งเป้าให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนถึง 50% ของ GDP ภายในปี 2573 ภายใต้ยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 การเติบโตของข้อมูลในระดับมหาศาลนี้กำลังขับเคลื่อนความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐาน
โดยเฉพาะตลาดศูนย์ข้อมูล (Data Center) ที่คาดว่าจะเติบโตจาก 1.56 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 53,040 ล้านบาท ในปี 2567 ไปแตะ 3.19 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 108,460 ล้านบาทในปี 2573
นายอรรณพ วาดิถี ผู้จัดการ เน็ตแอพ ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า การเติบโตข้อมูลมาพร้อมกับความท้าทายใหม่ที่ซ่อนอยู่ในระบบนิเวศข้อมูล นั่นคือ “ขยะข้อมูล” หรือข้อมูลที่ไม่มีการใช้งานอย่างคุ้มค่า โดยปัจจุบันกว่า 68% ของข้อมูลที่ถูกจัดเก็บทั่วโลกนั้นถูกใช้งานเพียงครั้งเดียว ทำให้องค์กรต่างๆ ต้องแบกรับต้นทุนในการเก็บรักษาและจัดการข้อมูลที่ไม่จำเป็น ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น
ขณะที่ภาคธุรกิจก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านความยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะการตอบสนองต่อเป้าหมายของประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก 20% เป็น 30% ภายในปี 2573 ส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีต้องเผชิญกับการตรวจสอบที่เข้มงวดยิ่งขึ้นในด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นายอรรณพ ระบุว่า ทางออกสำคัญอยู่ที่แนวคิด Data Minimalism หรือความเรียบง่ายของข้อมูล ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในระดับโลก โดยมีเป้าหมายในการลดข้อมูลที่ไม่จำเป็น เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ และสนับสนุนความยั่งยืนขององค์กรในระยะยาว ซึ่งหากนำมาใช้ในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ จะสามารถลดช่องว่างระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลกับความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กลยุทธ์สำคัญในแนวทาง Data Minimalism ได้แก่ การมองเห็นข้อมูลอย่างครอบคลุมทั้งในระบบภายในและบนคลาวด์ เพื่อประเมินขนาดและลักษณะของข้อมูลที่มีอยู่ การจัดหมวดหมู่และลำดับความสำคัญของข้อมูลอย่างเป็นระบบ แยกข้อมูลที่มีคุณค่าออกจากข้อมูลที่ไม่มีความจำเป็น เพื่อลดภาระในการจัดเก็บ และช่วยให้องค์กรปฏิบัติตามมาตรฐานด้านการกำกับดูแลและความยั่งยืนได้ดียิ่งขึ้น
อีกหนึ่งกลยุทธ์คือการย้ายข้อมูลขึ้นคลาวด์ โดยเลือกใช้ผู้ให้บริการที่ให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยให้องค์กรสามารถขยายระบบได้อย่างยืดหยุ่น พร้อมลดคาร์บอนฟุตพรินต์ไปในตัว รวมถึงการนำเทคนิคอย่างการบีบอัดข้อมูล (data compression) และการลบข้อมูลซ้ำซ้อน (deduplication) มาใช้ ซึ่งสามารถลดปริมาณข้อมูลที่ต้องจัดเก็บลงได้มาก และยังช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยรวมได้อย่างมีนัยสำคัญ
ในสถานการณ์ที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การมีโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลที่ชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพจึงไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่กลายเป็นภารกิจสำคัญของภาคธุรกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือ SME ทุกองค์กรต่างต้องหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลอย่างยั่งยืน
นายอรรณพ ยังเน้นย้ำว่า ความพยายามด้านความยั่งยืนจะไม่สามารถบรรลุได้หากยังมองว่าเป็นเพียงหน้าที่ของภาครัฐ แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะภาคเอกชนที่ต้องเร่งพัฒนาแนวทางจัดการข้อมูลที่ตอบโจทย์ทั้งด้านธุรกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล
แม้ว่าข้อมูลจำนวนมากอาจดูเป็นภาระหากไม่ถูกจัดการอย่างถูกต้อง แต่ในทางกลับกัน หากผนวกเข้ากับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ข้อมูลเหล่านี้สามารถเป็นกุญแจไขสู่การแก้ปัญหาด้านความยั่งยืนในหลายมิติ เช่น การพยากรณ์ภัยพิบัติ การจัดการทรัพยากร หรือแม้กระทั่งการพัฒนานโยบายสาธารณะเชิงรุกที่อิงข้อมูลจริง
“การสร้างโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลอัจฉริยะ ที่รวมความสามารถด้านประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความยั่งยืนเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน จะเป็นกุญแจสำคัญที่ผลักดันให้ประเทศไทยไม่เพียงแต่เป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค แต่ยังสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจสีเขียวได้ในอนาคต” นายอรรณพกล่าว
ท่ามกลางยุคที่ข้อมูลมีอิทธิพลต่อทุกการตัดสินใจ การวางกลยุทธ์ข้อมูลอย่างยั่งยืนจึงเป็นทั้งโอกาสและความจำเป็น ธุรกิจใดที่สามารถปรับตัวและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลได้อย่างชาญฉลาด จะไม่เพียงสามารถแข่งขันในโลกดิจิทัลได้เท่านั้น แต่ยังสามารถเติบโตไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนให้กับสังคมไทยในภาพรวม