เฟซบุ๊ก ชี้ยุคอุปกรณ์โมบาย เปลี่ยนวิธีดำเนินธุรกิจเอสเอ็มอี แนะต่อยอดธุรกิจให้เติบโต ด้วยการขายสินค้าผ่านการพูดคุยกับลูกค้า พร้อมเผยเคล็ดลับช่วยให้ใช้ประโยชน์สูงสุดจากฟีเจอร์แฟนเพจ
นางสาวรฐิยา อิสระชัยกุล ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจเอสเอ็มอี เฟซบุ๊ก ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่าการเข้าสู่ยุคของอุปกรณ์มือถือ ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินธุรกิจของธุรกิจเอสเอ็มอีในประเทศไทยไปอย่างสิ้นเชิง โดยได้สร้างบรรทัดฐานใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการตลาดเพื่อโปรโมตสินค้ากับกลุ่มลูกค้า หรือวิธีที่ผู้คนจะเชื่อมต่อกับธุรกิจต่างๆ รวมถึงสิ่งที่สำคัญที่สุด คือรูปแบบการสื่อสารที่ผู้คนสามารถติดต่อกับธุรกิจต่างๆ
ทั้งนี้การสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าในธุรกิจอีคอมเมิร์ซนั้น ถือเป็นความท้าทายสำหรับธุรกิจ ผลการศึกษาของ TNS ที่มอบหมายโดยเฟซบุ๊กระบุว่านักช็อปในไทยจะรู้สึกสบายใจเมื่อซื้อสินค้ากับผู้ขาย มากกว่าการสั่งซื้อผ่านตะกร้าสินค้าออนไลน์ ที่อาจใช้เวลาเพิ่มขึ้นเมื่อต้องตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซ และอาจใช้ระยะเวลาถึง 3 วันในการตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าออนไลน์
ดังนั้น เพื่อสร้างการสั่งซื้อออนไลน์ในไทย ผู้ขายออนไลน์จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะปรับใช้กลยุทธ์การขายสินค้าผ่านการพูดคุย รวมถึงสร้างประสบการณ์ช็อปออนไลน์ที่เป็นส่วนตัวและเป็นมิตรกับผู้ใช้ ทั้งนี้เคล็ดลับที่ช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีต่างๆ สามารถใช้งานฟีเจอร์ส่วนร้านค้าให้เกิดประโยชน์สูงสุดบนเพจเฟซบุ๊ก ประกอบด้วย 1.อัพเดทให้เพจเฟซบุ๊ก ให้แอกทีฟอยู่เสมอ เพราะมีถึง 92% ของนักช็อปชาวไทยใช้งานเฟซบุ๊กทุกวัน เพื่อค้นหาสินค้าใหม่ๆ อ่านรีวิวจากผู้ใช้อื่นๆ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในแบรนด์ที่พวกเขาอาจไม่คุ้นเคยมาก่อน ดึงดูดลูกค้าให้มีส่วนร่วมผ่านบทสนทนา เพื่อให้พวกเขารู้สึกใกล้ชิดและผูกพันกับธุรกิจมากขึ้น
2. การตอบสนองอย่างรวดเร็ว การช็อปปิ้งถือเป็นประสบการณ์ส่วนตัวสำหรับผู้บริโภคชาวไทย ที่จะสอบถามผู้ขายเพื่อฟังคำแนะนำหรือความคิดเห็น และหากทราบว่ามีใครสักคนที่ยินดีจะตอบกลับในทันที ก็ยิ่งมีส่วนช่วยเร่งการตัดสินใจซื้อให้เร็วขึ้น , 3.ยึดถือการบริการเป็นหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถามเกี่ยวกับรายละเอียดสินค้า เปิดโอกาสในการต่อรองราคา หรือให้บริการราวกับว่า เป็นเพื่อนรู้ใจในการช็อปของลูกค้า
4.การส่งรายละเอียดเกี่ยวกับการสั่งซื้อ หรือการจัดส่งสินค้าผ่านทางเฟซบุ๊ก แมสเซนเจอร์ (Inbox) เพื่อให้บทสนทนาอยู่ในที่เดียว และง่ายต่อลูกค้าในการเก็บหลักฐานยืนยัน อีกทั้งยังง่ายสำหรับธุรกิจในการต่อยอดบริการหลังการขาย รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้าด้วย และ 5.สนับสนุนให้ลูกค้าสมัครรับข้อมูลจากส่วนร้านค้า (Shop Section) เพื่อรับอัพเดทเกี่ยวกับสินค้าและบริการใหม่ล่าสุด
โดยผู้บริโภคชาวไทยต้องการเชื่อมต่อกับธุรกิจต่างๆ บนเฟซบุ๊ก โดยไทยมียอดผู้ใช้เฟซบุ๊กต่อเดือน มากกว่า 40 ล้านคน โดยมีถึง 95% ที่ใช้เฟซบุ๊กบนมือถือ และ 74%มีการเชื่อมต่อกับเพจธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างน้อยหนึ่งเพจ และยังใช้เวลานานบนโลกออนไลน์เพื่อมองหาสินค้าที่ต้องการจะซื้อ และแน่นอนว่าการพูดคุยทาง เฟซบุ๊กแมสเซนเจอร์ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มความไว้วางใจ และช่วยนำพวกเขาไปสู่การซื้อสินค้าได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เห็นถึงข้อดีในการใช้ฟีเจอร์ส่วนร้านค้าของเฟซบุ๊กให้บรรดาธุรกิจขนาดเล็กต่างๆ เป็นจุดหมายการช็อปที่ครบครัน โดยในประเทศไทย เจคิว ปูม้านึ่ง เดลิเวอรี่ ได้รับยอดสั่งซื้อสินค้ามูลค่ารวมมากกว่า 1 ล้านบาทภายในวันแรกของเทศกาลสงกรานต์ หลังจากที่เพิ่มส่วนร้านค้าบนเพจ ในขณะที่ N.IX Studio ก็ได้รับยอดขายที่เพิ่มขึ้น ลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาผ่านฟังก์ชั่นการส่งข้อความ จำนวนกว่า 50% ตัดสินใจซื้อสินค้าใหม่ที่แนะนำบนส่วนร้านค้า
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,183 วันที่ 14 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559