ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “เฮลท์เทค” หรือเทคโนโลยีด้านสุขภาพกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ทั่วโลกจับตามอง และประเทศไทยเองก็มีผู้ประกอบการที่พยายามเร่งเครื่องพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะ “AI ด้านการแพทย์” ที่เชื่อว่ามีศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ หากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ
นายพงษ์ชัย เพชรสังหาร นายกสมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สมาคมมีพันธกิจหลัก 3 ด้าน หรือที่เรียกว่า “3C” เพื่อขับเคลื่อนระบบนิเวศของเฮลท์เทคไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย Connection คือ การสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการไทย ภาครัฐ เอกชน และพันธมิตรต่างประเทศ โดยเฉพาะในแวดวงปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังมีบทบาทอย่างมากในวงการแพทย์
Capital คือ การส่งเสริมการระดมทุนให้สตาร์ทอัพไทยสามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ เพราะปัจจุบันไทยยังมีข้อจำกัดในแง่ของมูลค่าและจำนวนเงินทุนที่ได้รับ ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ หรือสิงคโปร์ ไทยยังถือว่า “ตามหลัง”
“ตัวอย่างเช่น การระดมทุนในรอบ Series A หากอยู่ในไทยมักจะได้ประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในเวียดนามอาจได้ถึง 3-5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่างกันถึง 6 เท่า โดยเฉพาะถ้าเป็น Deep Tech อย่าง AI ด้านการแพทย์ ตัวเลขก็ยิ่งห่าง” นายพงษ์ชัยกล่าว
และ Contribution หรือการคืนกลับสู่ระบบ ถือเป็นอีกกลไกสำคัญ สมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ กลับมาเป็นที่ปรึกษาและพี่เลี้ยงให้รุ่นใหม่ พร้อมเปิดโอกาสให้นักธุรกิจที่สนใจเข้ามาร่วมพัฒนา Ecosystem เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของความรู้ เงินทุน และเครือข่ายในลักษณะเดียวกับซิลิคอนวัลเลย์
แม้ประเทศไทยจะไม่สามารถแข่งขันกับจีนในด้านการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ หรือสู้กับเทคโนโลยีซับซ้อนจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้ แต่ “AI ด้านการแพทย์” คือโอกาสที่ยังเปิดกว้าง โดยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการเฮลท์เทคของไทยได้ผลักดันให้เกิดมาตรฐาน AI ด้านการแพทย์รายแรกของไทย ซึ่งผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และยังได้รับมาตรฐานจากสิงคโปร์ด้วย
“ที่ผ่านมาเราทำงานอย่างหนัก เพื่อให้ AI ด้านการแพทย์ของไทยมีมาตรฐานรองรับ ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มเห็นผล มีผู้ประกอบการไทยได้รับ อย. จริงแล้ว”
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยยังมีผู้พัฒนา AI ทางการแพทย์เพียงไม่เกิน 10 ราย และผลิตภัณฑ์ยังเน้นเฉพาะการวิเคราะห์ภาพ เช่น ใช้ AI อ่านฟิล์มเอ็กซ์เรย์ปอดกว่า 4.2 ล้านภาพ ภาพรังสีทรวงอก หรือจอประสาทตา โดยเป้าหมายการขยายสตาร์ทอัพ AI ทางการแพทย์ของสมาคมนั้นไม่เน้นปริมาณ แต่ขยายขอบเขตความสามารถ AI ทางการแพทย์ในแต่ละด้านมากขึ้น ทั้งทางด้านภาพ เสียง กลิ่น หรือ ด้านรสในอนาคต
โดยขณะนี้เริ่มเป็นการนำ AI มาใช้ทำงานด้านเสียง เช่น การแปลงเสียงหมอกับคนไข้เป็นเวชระเบียนอัตโนมัติ หรือวิเคราะห์เสียงเพื่อวินิจฉัยภาวะซึมเศร้า ส่วนด้านกลิ่นก็มีการพัฒนา AI ตรวจกลิ่นจากร่างกายที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคบางชนิด เช่น มะเร็ง หรือเบาหวาน นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดการใช้ AI วิเคราะห์รสชาติเพื่อประยุกต์ในอาหารการแพทย์ เช่น ตรวจสอบความเค็มหรือหวาน ซึ่งแม้จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการต่อยอดของ AI ในวงการแพทย์ไทย
แม้ไทยจะมีจุดแข็งด้านข้อมูลเขตร้อน ประชากรเชื้อสายเอเชีย นักวิจัยและโปรแกรมเมอร์ฝีมือดี แต่ยังมีอุปสรรคด้านเงินทุน โดยการลงทุนในเฮลท์เทคไทยยังไม่เกิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 340 ล้านบาท ต่อราย ขณะที่ควรจะอยู่ในระดับ “พันล้านบาทขึ้นไป” เพื่อให้สามารถวิจัยและพัฒนาได้อย่างเต็มที่
“การได้รับเงินลงทุนน้อยกว่า ทำให้การขยายธุรกิจทำได้ช้า และมีข้อจำกัดมากกว่า แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกา ก็อาจจะเป็นโอกาสดีที่กองทุนในเอเชีย เช่น จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี จะหันกลับมามองไทยและอาเซียนมากขึ้น”
นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย เช่น กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายการถือหุ้น และข้อกำหนดการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ต่างจากประเทศอย่าง สิงคโปร์ หรือฟิลิปปินส์ ที่ภาครัฐเน้นบทบาท “ผู้สนับสนุน” ไม่ใช่ “ผู้แข่งขัน”
“หลายโครงการของรัฐ อย่าง AI Consortium ของกระทรวงวิทย์ฯ ที่ได้งบหลายร้อยล้านบาท กลับไม่มีผู้ประกอบการเฮลท์เทคได้มีส่วนร่วม ทั้งที่ควรเปิดพื้นที่ให้ภาคเอกชนที่มีความรู้จริงมาขับเคลื่อน”
นายพงษ์ชัย กล่าวต่อไปว่า ภาครัฐควรปรับบทบาทจาก “ผู้ดำเนินการ” มาเป็น “ผู้สนับสนุน” อย่างจริงจัง เปิดทางให้ภาคเอกชนที่มีความสามารถได้แสดงศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรม พร้อมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมาย กองทุน และตลาด เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน
“เราไม่ได้ขาดความสามารถ เราขาดโอกาส ขาดเงินทุน และขาดความเข้าใจจากภาครัฐ ถ้าเปิดทางให้เฮลท์เทคไทยได้เดินเต็มฝีเท้า ประเทศไทยจะเป็นผู้นำด้าน AI การแพทย์ในภูมิภาคนี้ได้แน่นอน”