หลังจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจากรโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้มีมติ 4:3 ให้อำนาจประธานบอร์ด กสทช. มีสิทธิเสนอชื่อ เลขาธิการ กสทช.แต่เพียงผู้เดียว ไม่ต้องผ่านกระบวนการสรรหา เลขาธิการ กสทช.
โดยการลงมติดังกล่าว ครั้งแรกมีคะแนนเท่ากัน 3:3 ทั้งฝ่ายเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ประธาน กสทช. จึงได้ใช้อำนาจประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มอีก1เสียง ส่งผลให้คะแนนโหวตเป็น 4:3 อ้างตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 61 ให้ประธานกรรมการ โดยความเห็นชอบของ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช.
หนึ่งในกรรมการเสียงข้างน้อย ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค Pirongrong Ramasoota ถึงเหตุผลที่คัดค้าน มติให้อำนาจ ‘ประธาน กสทช.’ กำหนดกระบวนการคัดเลือก เลขาธิการ กสทช. และจำกัดการมีส่วนร่วมของกรรมการ กสทช. โดยตั้งคำถาม และแสดงความกังวลไว้ 3ข้อ ดังนี้
1. ตั้งคำถามถึงความเชื่อมั่นต่อองค์กร ด้านความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เนื่องจากประธานจะเป็นผู้ส่งหนังสือเชิญทาบทามผู้ที่มีคุณสมบัติให้มาเป็นเลขาธิการ กสทช. ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญสูง กระบวนการคัดเลือกควรจะสะท้อนความโปร่งใส และเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้าร่วมการคัดเลือก ลดความเสี่ยงจากการแทรกแซงทางการเมือง และภาคธุรกิจ
2. ตั้งคำถามต่อข้อกฎหมาย ว่าเป็นกระทำที่ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เนื่องจากแม้พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 61 บัญญัติให้ประธานกรรมการโดยความเห็นชอบของ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการกสทช. ไม่ได้หมายความว่าไม่จำเป็นต้องมีกระบวนการสรรหาที่เปิดกว้างให้ผู้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้าสมัครรับการสรรหา
ทั้งยัง ไม่สะท้อนแนวปฏิบัติที่ดีของการทำงานแบบองค์คณะที่ควรจะมีการมีส่วนร่วมของกรรมการทุกคนอย่างเท่าเทียม และอาจเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมอันขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 27 ที่ระบุว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่อง … สถานะของบุคคล … การศึกษาอบรม… หรือเหตุอื่นใด จะกระทํามิได้”
ในขณะที่การให้ กสทช. ทั้งคณะร่วมพิจารณาคุณสมบัติของเลขาธิการ กสทช. และกระบวนการคัดเลือกไปพร้อมๆ กัน สอดคล้องกับ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 58 และสอดคล้องกับแนวทางการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ที่ผ่านมาด้วย
3. ประธานกสทช.ไม่มีเหตุผล ที่จะเร่งกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการฯ โดยไม่รอกรรมการท่านที่ 7ซึ่งได้ผ่าน กระบวนการสรรหา และขณะนี้อยู่ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก่อนจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ แม้มีกรรมการอย่างน้อย 3 คนหนังสือทักท้วง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ประธานก็ไม่ได้ริเริ่มกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการฯ ในขณะนั้นแต่อย่างใด
เปิดคำถาม และข้อสังเกต จาก 3 กรรมการเสียงข้างน้อย
เป็นการกระทำที่ขัดต่อมติ กสทช.เดิม ที่เคยบอกให้รวมกระบวนการพิจารณาคุณสมบัติ และกระบวนการคัดเลือกของผู้ที่จะเข้ามาเป็นเลขาธิการไปพร้อมๆ กัน
พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฯ จะมีการปรับปรุงแก้ไขถึงสองครั้ง แต่สาระที่เกี่ยวกับการคัดเลือกเลขาธิการไม่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขแต่อย่างใด
ตั้งแต่มีการตั้งเลขาฯ กสทช.คนแรกใน พ.ศ. 2554 กรรมการ กสทช.ทุกคนมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการอย่างชัดเจน แม้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ และปรับปรุงกฎหมายในปี พ.ศ. 2559 มติให้เลขาธิการคนเดิมทำงานต่อไปนั้นเป็นมติบอร์ดกสทช. ไม่ใช่การใช้อำนาจของประธานแต่เพียงลำพัง และเป็นสถานการณ์พิเศษ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านสำนักงาน กสทช. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย