เอกชนไม่รอรัฐ แห่ตั้งกองทุนปั้นสตาร์ทอัพ

12 ก.พ. 2567 | 08:01 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2567 | 08:16 น.

วงการสตาร์ทอัพไทยหงอย! รัฐบาลไร้นโยบายสนับสนุน ชี้ 3 อุปสรรคขวางเติบโต “ทุน-คน-ตลาด” ล่าสุดภาคเอกชน แห่ตั้งกองทุนหนุนสตาร์ทอัพ “ภาวุธ” ตั้งอีฟราสตรัคเจอร์ ร่วมทุนแบงก์กรุงศรีฯ ตั้งกองทุน 1.3 พันล้าน ขณะที่ Disrupt Impect ตั้งกองทุน 535 ล้าน ลงทุนเฮลท์เทค

KEY

POINTS

  • วงการสตาร์ทอัพไทยชะลอตัวลงมาตั้งแต่หลังโควิด โดยเฉพาะภาคไม่มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนชัดเจน
  • บริษัท อีฟราสตรัคเจอร์ จำกัด ขึ้นมา ร่วมทุนกับ กรุงศรี ฟินโนเวท CORPORATE VENTURE CAPITAL (CVC) ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จัดตั้งกองทุน Finno Efra Fund มูลค่า 1,300 บาท ขึ้นมาเพื่อเข้าไปลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ
  • เตรียมเปิดกองทุน Disrupt Impact Fund มูลค่า 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 535 ล้านบาท ที่เข้ามาลงทุนในเทคโนโลยีสุขภาพ หรือ เฮลท์เทค

ผศ.ดร. ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย หรือ “THAI STARTUP” และผู้ร่วมก่อตั้ง iTAX เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าวงการสตาร์ทอัพไทยชะลอตัวลงมาตั้งแต่หลังโควิด โดยเฉพาะภาคไม่มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนชัดเจน มีเพียง 2 หน่วยงาน ที่เข้าใจและให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพ คือ สำนักงานส่งเสริมนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ เอ็นไอเอ และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ที่มีเงินช่วยเหลือเริ่มต้นธุรกิจให้กับสตาร์ทอัพ อย่างไรก็ตามไม่เพียงพอต่อการขยายธุรกิจต่อไปข้างหน้า ขณะที่รัฐบาลเองไม่มีนโยบายระดับชาติส่งเสริมสตาร์ทอัพ

เอกชนไม่รอรัฐ แห่ตั้งกองทุนปั้นสตาร์ทอัพ

โดยช่วงปีที่ผ่านมาสตาร์ทอัพหลายราย เริ่มถอดใจล้มหายไปจากธุรกิจเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัญหาและอุปสรรคสำคัญของสตาร์ทอัพไทยมี 3 เรื่อง คือ 70% ขาดแหล่งเงินทุนเพื่อขยายการเติบโต หรือ สเกลอัพ, 35% ขาดทีมงานด้านเทคโนโลยี และอีก 35% ไม่มีโมเดลธุรกิจและขาดพื้นที่การทำตลาด”

อย่างไรก็ตามภาคเอกชนไทย ยังมีความเข้มแข็งและเห็นโอกาสการลงทุนสตาร์ทอัพ ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้แสวงหาพันธมิตร เพื่อจัดหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนจากกองทุนต่างๆ และเงินลงทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพขององค์กรขนาดใหญ่ หรือ CVC (Corporate Venture Capital) รวมถึงการช่วยสร้างเครือข่ายทางการตลาด โดยมองว่าสตาร์ทอัพที่มีโอกาส คือสตาร์ทอัพด้านความยั่งยืน (ESG) และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากได้รับความสนใจจากกลุ่มนักลงทุน

เอกชนไม่รอรัฐ แห่ตั้งกองทุนปั้นสตาร์ทอัพ

ผศ.ดร. ยุทธนา กล่าวต่อไปอีกว่า ปีนี้เกิดของกองทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพในประเทศขึ้นเป็นจำนวนมากถือเป็นเรื่องที่ดี ล่าสุด กรุงศรี ฟินโนเวต กองทุน CORPORATE VENTURE CAPITAL (CVC) ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ร่วมกับนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นักลงทุนธุรกิจสตาร์ทอัพ เตรียมจัดตั้งกองทุนชื่อ “Finno Efra Fund” มูลค่า 1,300 ล้านบาท เพื่อลงทุนในกิจการสตาร์ทอัพที่อยู่ใน Early Stage ตั้งแต่ Seed จนถึง Pre-Series A และยังมีกองทุน Disrupt Impect มูลค่า 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 535 ล้านบาท ที่เข้ามาลงทุนในเทคโนโลยีสุขภาพ หรือ เฮลท์เทค ที่สตาร์ทอัพไทยถือว่ามีโอกาส

 “ไทยมีสตาร์ทอัพที่มีความสามารถอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ขาดโอกาส และนโยบายสนับสนุนที่ชัดเจนจากรัฐบาล ที่ผ่านมาสมาคมฯ พยายามทำหนังสือ ประสานของเข้าพบนายกฯ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงภูมิทัศน์ของสตาร์ทอัพไทย โดยหากรัฐ สามารถเข้ามาแก้ปัญหา เรื่องทุน คน และตลาด เชื่อว่าวงการสตาร์ทอัพไทยไปไกลแน่นอน”

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้คร่ำหวอดในแวดวงอีคอมเมิร์ซไทย และนักลงทุนธุรกิจสตาร์ทอัพ กล่าวว่าตนได้จัดตั้งบริษัท อีฟราสตรัคเจอร์ จำกัด ขึ้นมา เข้าไปร่วมทุนกับ กรุงศรี ฟินโนเวท CORPORATE VENTURE CAPITAL (CVC) ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา เพื่อจัดตั้งกองทุน Finno Efra Fund มูลค่า 1,300 บาท ขึ้นมาเพื่อเข้าไปมลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยเบื้องต้นกรุงศรี ฟินโนเวท จะเข้ามาลงทุนในกองทุนดังกล่าว 600 ล้านบาท ที่เหลือจะระดมทุนจากนักลงทุนรายอื่นๆ เพิ่ม คาดว่ากองทุนดังกล่าวจะเข้าไปช่วยสนับสนุนสตาร์ทอัพได้ราว 50 ราย

เอกชนไม่รอรัฐ แห่ตั้งกองทุนปั้นสตาร์ทอัพ

ทั้งนี้ ในกองทุนดังกล่าว จะมีเงินลงทุนในสตาร์ทอัพตั้งแต่ 2 แสนดอลลาร์ ถึง 2 ล้านดอลลาร์ หรือ 5 ล้าน ถึง 60 ล้านบาท และยังมีโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ แคมป์ที่ฝึกวิทยายุทธการทำธุรกิจในทุกมิติ ซึ่งจะช่วยทำให้ระบบนิเวศการส่งเสริมสตาร์ทอัพมีความสมบูรณ์มากขึ้น จากเดิมขาดโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ หลังจากโครงการดีแทค แอคเซอเลอเรท” (dtac accelerate) ยุติไป

 นายภาวุธ กล่าวต่อไปว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้ลงทุนสตาร์ทอัพ 48 บริษัท ที่อยู่ในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น e-Commerce, e-Payment, Logistics, Advertising, Big data, Health tech, Industrial tech, เเละอื่นๆ อีกมาก บริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทของคนรุ่นใหม่ที่ได้สร้างผลลัพธ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศไทยอย่างมาก ต่อเนื่องมาหลายปี เช่น กลุ่มบริษัท e-Commerce สามารถช่วยผู้ประกอบการไทยสร้างยอดขายได้สูงถึง 82,000 ล้านบาท เกิดจำนวนการสั่งซื้อ 65 ล้านรายการ ส่งออกสินค้าไทยออกไปมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก หรือ ในกลุ่มธุรกิจ Platform สามารถสร้างงานให้กับคนไทยได้ถึง 17,600 ตำแหน่ง, ลดการใช้กระดาษไปได้มากกว่า 60 ล้านแผ่น รวมไปถึงช่วยสร้าง ความโปร่งใสให้กับสังคมไทย ในการเปิดเผยข้อมูลในคดีสำคัญหลายๆ คดี

บริษัทสตาร์ทอัพที่ลงทุนไป มุ่งเน้นการทำงานร่วมกัน ในการสร้างโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ ร่วมกัน รวมไปถึงสนับสนุน ต่อยอดให้บริษัทของคนรุ่นใหม่เหล่านี้สามารถเติบโตได้ยอดขายหลายร้อยล้านบาทภายในเวลา ไม่กี่ปี และมีหลายบริษัทกำลังเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เร็วๆ นี้

นายภาวุธ กล่าวต่อไปว่านโยบายส่งเสริมสตาร์ทอัพของรัฐบาลขาดหลายไปช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยรัฐบาล ต้องเข้ามาสนับสนุนบริษัทเทคฯ ของไทย สตาร์ทอัพไทย โดยภาครัฐต้องหันมาใช้เทคโนโลยีที่ผลิตโดยคนไทยมากขึ้น ใช้ซอฟต์แวร์ของไทยมากขึ้น ซึ่งเมื่อเข้ามาใช้มากขึ้นจะทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพมากขึ้น

ด้านนางสาวจันทนารักษ์ ถือแก้ว พาร์ทเนอร์ บริษัทดิสรัป เทคโนโลยี เวนเจอร์ จำกัด กล่าวว่าได้เตรียมเปิดกองทุน Disrupt Impact Fund มูลค่า 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 535 ล้านบาท ที่เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพเทคโนโลยีสุขภาพ หรือ เฮลท์เทค ทั่วโลกที่สนใจตลาดไทย โดยจะเลือกเข้าไปลงทุนสตาร์ทอัพ ที่สามารถเติบโตได้ดี และมีรายได้ รวมถึงสามารถสร้างผลกระทบ หรือ อิมแพค กับอุตสาหกรรมเฮลท์เทค ทั้งพวกสารสะกัดใหม่ๆในเครื่องสำอาง หรือยา เทคโนโลยีที่ช่วยให้โรงพยาบาลพัฒนาไปสู่ Smart Hospital เทคโนโลยี AI ที่ช่วยการตรวจสอบโรคก่อนไปโรงพยาบาล  หรือ  การแพทย์ทางไกล   คาดว่าจะสามารถเข้าไปลงทุนในเฮลท์เทคสตาร์ทอัพได้ประมาณ 10 ราย