นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 1/2567 เปิดเผยว่า ที่ประชุมวันนี้ได้เห็นชอบในหลักการแนวทางการส่งเสริมและประยุกต์ใช้งาน Thailand i4.0 Index เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
ซึ่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกระทรวงอุตสาหกรรม พัฒนาขึ้นภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) เพื่อเป็นเครื่องมือกลางของประเทศไทย ในการขับเคลื่อนยกระดับอุตสาหกรรมไทยตามแนวทางอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งหน่วยงานรัฐ สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา และเอกชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
และมอบหมายให้ สวทช. เป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบนิเวศของ Thailand i4.0 Index เพื่อรองรับการขยายผลการใช้งานในประเทศไทย โดยประสานงานและดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมถึงมอบหมายให้ สวทช. ทำการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลจากผลการประเมินความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 อย่างเป็นระบบ เพื่อให้บริการแก่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย รวมถึงพัฒนาทักษะบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ
รวมถึงเห็นชอบแผนแม่บทการส่งเสริมและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศ (พ.ศ. 2567 – 2570) เพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทยในระยะ 4 ปี สอดคล้องกับ 4 ประเด็นยุทธศาสตร์แผนปฏิบัติการ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนากำลังคนและสร้างความเชื่อมั่น ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และยุทธศาสตร์ที่ 4 การสนับสนุนระบบนิเวศวิจัยและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี
ด้าน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า นอกจากนั้นในวันนี้ที่ประชุมยังได้ให้ความเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ บอร์ดดีอี เรื่อง การกำหนดนิยามและขอบเขตอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทย โดยนิยามอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้มข้น และเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่เป็นพื้นฐานที่จำเป็นของการพัฒนาภาคการผลิตและบริการอื่นๆ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมอุปกรณ์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นส่วนประกอบ ในการผลิตสินค้า การค้าหรือการบริการ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการกำหนดนิยาม ความหมาย ขอบเขตของอุตสาหกรรมดิจิทัล ตลอดจนการจำแนกประเภทที่ชัดเจน สำหรับใช้ในการประเมินบทบาทของอุตสาหกรรมที่มีต่อระบบเศรษฐกิจและคาดการณ์อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรม และการวิเคราะห์สัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมดิจิทัลต่อ GDP รวมถึงเพื่อเป็นข้อเสนอแนะและแนวทางในการจัดเก็บข้อมูล และการวัดมูลค่าของอุตสาหกรรมดิจิทัลต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ตลอดจนเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อน E-Workforce Ecosystem Platform (EWE) และให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินงาน E-Workforce Ecosystem Platform สำหรับรองรับการใช้งานของประชาชน และมอบหมายให้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ส่วนราชการที่มีการอบรมบุคลากรทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์ เชื่อมโยงข้อมูลหลักสูตรและกำลังคนเข้าสู่ระบบ E-Workforce Ecosystem Platform และให้บุคลากรของส่วนราชการทุกหน่วยงานลงทะเบียนเข้าใช้ E-Workforce Ecosystem Platform พร้อมปรับปรุง E-Portfolio ของระบบ E-Workforce Ecosystem Platform ให้เป็นปัจจุบัน
ส่วนนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบการปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี)ว่าด้วยการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2561 เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนว่าด้วยมาตรฐานการบริหารงานบุคคลของทุนหมุนเวียน เพื่อให้การดำเนินงานกองทุนเกิดความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของกองทุนดีอีมากยิ่งขึ้น สำหรับประเด็นเรื่องเพื่อทราบนั้น ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานของคณะกรรมการภายใต้พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ๒๕๖๐ รวมถึงผลการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565 – 2570 ที่ สดช. ร่วมกับ สวทช. ดำเนินการจัดทำแพลตฟอร์มกลางบริการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทยเพื่อสนับสนุนระบบนิเวศด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ (National AI Service Platform) สำหรับบริการภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ภายใต้การสนับสนุนโดยระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) และได้เปิดให้บริการผ่านทางเว็บไซต์ แล้ว เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอเรื่องเข้า คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐใช้งานบริการปัญญาประดิษฐ์ภายในประเทศผ่านแพลตฟอร์มกลางบริการปัญญาประดิษฐ์ฯ และส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ให้บริการปัญญาประดิษฐ์ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถให้บริการผ่านแพลตฟอร์มกลาง เพื่อส่งเสริมการแข่งขันและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าว จำนวน 15,581 บัญชี และมีการใช้บริการต่าง ๆ จำนวน 44.1 ล้านครั้ง