ก้าวไกลหมดลุ้นนายก! เสี่ยงปลุกม็อบยืดเยื้อ

15 ก.ค. 2566 | 02:09 น.

นักวิชาการ เชื่อ หาก“พิธา”หลุดเก้าอี้นายกฯ-ก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน การเมืองร้อนแรงแน่ แนะทุกฝ่ายมีสติ ให้เวลาช่วยเยียวยาสถานการณ์ ขณะที่ ศ.ดร.อรรถกฤต ประเมินเกมการเมืองต้องอยู่ในกติกา อนาคตพรรคก้าวไกล ยังต้องลุ้น ช็อตต่อไปยังมีความไม่แน่นอน

รศ.ดร.โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สะท้อนมุมมองต่อกรณีที่มวลชนฝ่ายสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี  รวมตัวชุมนุมบริเวณใกล้รัฐสภา และคาดว่าจะมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง หากนายพิธา ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า  การรวมตัวของมวลชนพรรคก้าวไกล คือ “กลยุทธ์นิติสงคราม” ซึ่งเป็นสงครามเย็นอย่างหนึ่ง ที่ต่างฝ่ายต่างมีกลยุทธ์วิธี

เพียงแต่ การชุมนุมจะบานปลาย จะเปลี่ยนจากนิติสงคราม เป็นสงครามเย็นหรือสงครามร้อน อันนี้ประชาชนทั่วไปภาวนาว่าอย่าให้เกิดขึ้นเลย ขอให้ทุกฝ่ายตั้งสติให้ดี เพราะเวลาอาจจะช่วยเยียวยาวิกฤตการณ์ต่างๆ ได้
    

“ผมคิดว่า ฉากทัศน์ที่แย่ก็คือ การผลักดันให้พรรคก้าวไกล เป็นพรรคฝ่ายค้าน และที่แย่ที่สุดคือ การหาเหตุจากการยุบพรรคก้าวไกล เมื่อถึงตรงนั้น ผมคงต้องหลบที่แห่งใดสักแห่งหนึ่ง เพราะไม่อยากเห็นสงครามร้อน นิติสงคราม เป็นสงครามเย็นที่ร้อน และพร้อมจะร้อนขึ้น

เพราะฉะนั้นวิธีการที่ดีที่สุด ทุกฝ่ายต้องทำให้สงครามเย็นลง ทุกคนต้องมีสติมากขึ้น และมองระยะยาว ให้มองรัฐธรรมนูญเหมือนเป็นยา เอื้ออำนวยให้ฝ่ายอำนาจเก่า แต่ยายังมีเวลาหมดฤทธิ์ ตรงนี้ประชาชนรอได้ ดังนั้นจึงต้องให้เวลาช่วยคลี่คลายสถานการณ์จากร้อนให้เย็นลง”

ก้าวไกลหมดลุ้นนายก! เสี่ยงปลุกม็อบยืดเยื้อ รศ.ดร.โคทม แนะทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้คือ ส.ว.ควรเลือกนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี ทุกอย่างจะคลี่คลายทันที และก้าวต่อไป ไม่ต้องทำสงครามอีกต่อไป  ขอเตือนสติแฟนคลับทั้งหลาย เพราะเป็นตัวแปรสำคัญ ถ้าแฟนคลับที่มาชุมนุมเสียท่าคนที่ชอบความรุนแรง หรือเสียท่าคนที่แฝงตัว หรือเป็นตัวปลอมมายุยงให้เกิดความรุนแรง หากเสียท่าคนเหล่านั้น

ผลเสียจะเกิดขึ้นแก่กระบวนการประชาธิปไตยในระยะยาว เพราะฉะนั้นกระบวนการประชาธิปไตยทั้งหลาย ซึ่งหมายถึงรัฐสภา การลงคะแนนเสียง โดยไม่ต้องทำร้ายทุบตีกัน

“ผมยึดหลักการว่า ส.ว.ถือเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยทั้งหลาย ไม่อยู่ในอาณัติของโคร เพราะฉะนั้นถ้าจะทำหน้าที่ผู้แทนของปวงชนต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง”

 

ส่วนเหตุการณ์ที่กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) ตีความสถานภาพ นายพิธา จากคดีถือครองหุ้นไอทีวี นั้น รศ.ดร.โคทม ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวของ กกต. เพราะไอทีวี หยุดการผลิตสื่อมานาน ถ้ายังจะไปยึดข้อเขียนต่างๆ หรือตีความว่าการมีไอทีวี ทำให้นายพิธา หรือพรรคก้าวไกล ได้คะแนนเสียง โดยไม่ดูบริบท ไม่ดูอย่างอื่นประกอบ หยิบยกเพียงอักษรแบบครึ่งเดียวไม่ได้

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

ด้าน ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า กรณีที่มวลชนฝ่ายสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น คงไม่ได้มีความรุนแรงเหมือนกับการชุมนุมในอดีต

แต่ต้องประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะในกรณีที่เกิดความรุนแรง มีการชุมนุมยืดเยื้อ จนนำไปสู่การสลายการชุมนุม และมีความรุนแรง หากเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นอีกแน่นอนว่ะกระทบกับเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก

“จริง ๆ แล้วเรื่องของการชุมนุม หลายคนก็มีความกังวลว่าจะมีความรุนแรง โดยเฉพาะทางฟากเศรษฐกิจ และนักลงทุน เพราะกลัวว่าจะกระทบเศรษฐกิจ แต่จริง ๆ แล้วส่วนตัวกลัวว่าจะเกิดรัฐประหารมากกว่า และการชุมนุมนั้นยิ่งทำอะไรมากเท่าไหร่ ยิ่งกลับมาทำให้การเมืองหยุด และกระทบอีกอย่างอย่างตามมา แต่อย่างไรก็ดีส่วนตัวก็มองว่าคงไม่น่าจะไปถึงจุดนั้น และไม่น่าจะรุนแรงแบบในอดีต”
 

ศ.ดร.อรรถกฤต มองว่า โครงสร้างทางการเมืองของไทยในปัจจุบันจะปรับตามบริบทของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน ณ ขณะนั้น และมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยทุกคนก็เข้าใจและยอมรับในการทำตามกติกา และต้องเล่นให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีอยู่ คือ การมีสมาชิกวุฒิสภาในการโหวตนายกรัฐมนตรี ก็ต้องเดินตามกติกา จะอ้างเพียงแค่ประชาชนอย่างเดียวคงไม่ใช่เรื่องหลัก และไม่น่าจะใช้ทางเลือกที่ดี

 ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งรับคำร้องกรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นขอให้พิจารณาวินิจฉัย กรณี นายพิธา และพรรคก้าวไกล หาเสียงเลือกตั้ง โดยเสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่.. พ.ศ. .... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยศาลให้ผู้ถูกร้องทำคำชี้แจงมายังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนายพิธา พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. กรณีถือครองหุ้นสื่อไอทีวี มองว่า จะเป็นความยากลำบากของนายพิธาต่อไปแน่นอนกับการอยู่รอดทางการเมือง

ก้าวไกลหมดลุ้นนายก! เสี่ยงปลุกม็อบยืดเยื้อ

 ส่วนในฉากต่อไป ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำบทสรุปออกมาอย่างไร แต่เบื้องต้นประเมินอนาคตของพรรคก้าวไกลว่า ในกรณีรุนแรงสุดคือถ้าเกิดการ"ยุบพรรคก้าวไกล"ขึ้น คงส่งผลกระทบแค่คณะกรรมการบริหาร แต่แม้ว่าจะหมดสิทธิทางการเมือง แต่ก็ยังสามารถเคลื่อนไหวเป็นเบื้องหลังต่อได้ โดยการอยู่รอดของพรรค แม้จะเกิดอะไรทางการเมืองขึ้นก็น่าจะมีแกนนำต่างๆ แสดงความเคลื่อนไหวเรื่อย ๆ

“ในอนาคตยังต้องดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องไม่ง่ายเลยเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ และในอนาคตหากพรรคยังทำงานการเมืองต่อไปได้ การคิดนโยบายของพรรคก็ต้องระวังมากขึ้นว่า ไม่เน้นนโยบายที่ทำให้เขาเกิดปัญหา โดยอาจจะลดระดับลงมา เพราะตอนนี้แบรนด์ของพรรคติดแล้ว และน่าจะยังมีฐานเสียงของคนรุ่นใหม่อยู่จำนวนไม่น้อย”

อย่างไรก็ตามในอนาคตพรรคการเมืองคู่แข่งอาจต้องระวังพรรคก้าวไกลในอนาคตมากขึ้น เพราะถือเป็นพรรคคู่แข่งอันดับต้นๆ ของหลายพรรคใหญ่ โดยจะต้องคิดนโยบาย หรือปรับรูปแบบการเมืองของตัวเองใหม่ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มีช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย และสื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ให้เกิดแบรนด์ที่สามารถแข่งขันกับทางพรรคก้าวไกลได้ แต่การทำนโยบายก็อาจจะคิดให้มากขึ้นเพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงตามมา