"ยุบสภา"แล้วไงต่อ "เลือกตั้ง" วันไหน ได้รัฐบาลใหม่เมื่อไหร่

20 มี.ค. 2566 | 09:55 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2566 | 10:11 น.

ยุบสภาแล้วเป็นอย่างไรต่อไป คนไทยจะได้เลือกตั้ง 2566 วันไหน มีรัฐบาลชุดใหม่เมื่อไหร่ ตรวจสอบไทม์ไลน์ ล่าสุดได้ที่นี่

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ "ยุบสภา" มีผลตั้งแต่วันนี้ 20 มีนาคม 2566 เมื่อกางปฏิทินตรวจสอบไทม์ไลน์ของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พบว่า กรณีที่มีการประกาศยุบสภา รัฐธรรมนูญมาตรา 103 ระบุว่า กกต.จะต้องกำหนดวัน "เลือกตั้ง" ไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน

โดยกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า กกต.จะต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป และกำหนดวันรับสมัครรับเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา ภายใน 5 วันนับตั้งแต่วันมีพระราชกฤษฎีกายุบสภา

ไทม์ไลน์การเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะเกิดขึ้นตามแผนที่ กกต.กำหนดไว้ จะมีรายละเอียดคร่าว ๆ ดังนี้

เมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาแล้ว ตามกฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องกำหนดและประกาศ วันเลือกตั้ง รวมถึงวันรับสมัคร ภายใน 5 วันหลังวันยุบสภา  โดยคาดว่ากกต.กำหนดเลือกตั้ง 2566 ในวันที่ 7 พฤษภาคม หรือ 14 พฤษภาคม 2566 

จากนั้นจะเปิดสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลา 5 วัน และเมื่อปิดรับสมัครแล้ว นับต่อไปอีกไม่เกิน 7 วัน กกต. จะต้องประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งคาดว่า จะเกิดขึ้นช่วงปลายเดือนมีนาคม – ต้นเดือนเมษายน 2566

จากนั้น กกต. จะต้องประกาศหน่วยเลือกตั้ง สถานที่ลงคะแนน และรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้ประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนทราบก่อนถึงวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน

โดย กกต. จะส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน ให้ตรวจสอบรายชื่อก่อนถึงวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20 วัน โดยผู้มีสิทธิลงคะแนนสามารถตรวจสอบดูได้ว่า ชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในทะเบียนบ้านของตนเองนั้นครบและถูกต้องหรือไม่ มีชื่อบุคคลใดขาดหรือเกินมาหรือไม่กรณีถ้ามีชื่อคนในบ้านขาดหรือเกินเข้ามาก่อนถึงวันเลือกตั้งได้ไม่น้อยกว่า 10 วันจะต้องดำเนินการทักท้วงแจ้งเพิ่มหรือถอนชื่อออก  

ขณะเดียวกัน กกต.จะดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งให้เรียบร้อยก่อนถึงวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20 วัน หากมีการเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้งหรือสถานที่ลงคะแนนจะต้องแจ้งให้ประชาชนทราบก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน

สำหรับผู้ที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้งได้ กกต. จะประกาศวันเลือกตั้งล่วงหน้า ให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนใช้สิทธิได้ ซึ่งต้องประกาศต่อไปว่าจะเป็นวันไหน

อย่างไรก็ดี ผู้ที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้นั้น ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิได้เพื่อป้องกันไม่ให้เสียสิทธิอื่น ๆ ทางการเมือง โดยสามารถแจ้งเหตุได้ภายใน 7 วัน ก่อนหรือหลังวันเลือกตั้ง และสุดท้ายวันเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายใน 45-60 วันนับตั้งแต่ยุบสภา ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 7 พ.ค. หรือ วันที่ 14 พ.ค. 2566 

ทั้งนี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เคยระบุถึงไทม์ไลน์หลังการยุบสภาเอาไว้ว่า ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน แต่หากยุบสภาจะกำหนดวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ไม่ว่าจะยุบสภาหรือครบวาระจะเกิดในเดือน มี.ค.นี้แน่นอน

ส่วนเรื่องวันเลือกตั้งคาดว่า จะมีขึ้นภายในเดือน พ.ค.นี้ หลังจากนั้นต้นเดือน ก.ค.จะประกาศผลการเลือกตั้งได้ทั้ง 500 คน

ขณะที่การตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรจะเกิดขึ้นกลางเดือน ก.ค.

ขั้นตอนต่อไปเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเกิดขึ้นปลายเดือน ก.ค.เช่นเดียวกัน

จากนั้นเมื่อมีนายกรัฐมนตรีแล้วจะเป็นการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีต่อ และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณตนประมาณต้นเดือน ส.ค.นี้ ดังนั้น รัฐบาลชุดนี้จะรักษาการประมาณ 4 เดือนครึ่งในขณะที่วุฒิสภายังคงมีอยู่แต่ประชุมไม่ได้เว้นแต่เลือกองค์กรอิสระ 

สรุป : หลังยุบสภาแล้ว การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2566 และจะมีรัฐมนตรีจากรัฐบาบลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศในเดือนสิงหาคม 2566