วันนี้ (26 มี.ค.66) “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเฉพาะผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ กรณี “คนไทยนิยมพรรคการเมืองใด” จำนวนทั้งสิ้น 10,614 คน (สำรวจทางภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 1-17 มีนาคม 2566 ก่อนที่จะประกาศ “ยุบสภา” สรุปผลได้ ดังนี้
คนไทยนิยมพรรคการเมืองใด (ก่อนยุบสภา) พบว่า
อันดับ1 คือ พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคที่คนไทยนิยม ร้อยละ 46.16
อันดับ 2 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 15.43
อันดับ3 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 11.12
อันดับ4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 8.73
อันดับ5 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 7.71
อันดับ6 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 7.11
อันดับ7 พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 1.43
อันดับ8 พรรคชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 0.53
อันดับ9 พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 0.41
พรรคอื่นๆ ร้อยละ 1.37
คนไทยนิยมพรรคการเมืองใด (ก่อนยุบสภา) เมื่อจำแนกตามอายุ พบว่า กลุ่มอายุ 18 – 30 ปี นิยมพรรคก้าวไกลมากที่สุด ร้อยละ 37.85 กลุ่มอายุอื่นๆ นิยมพรรคเพื่อไทยมากที่สุด
คนไทยนิยมพรรคการเมืองใด (ก่อนยุบสภา) เมื่อจำแนกตามภูมิภาค พบว่า
- ภูมิภาคที่นิยมพรรคเพื่อไทยมากที่สุด
กรุงเทพฯ
ภาคกลาง
ภาคเหนือ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- ภาคใต้นิยมพรรคการเมือง
พรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด ร้อยละ 24.71
พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 21.72
นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ชี้ว่า คะแนนความนิยมของพรรคเพื่อไทยยังคงพุ่งแรง และได้รับการตอบรับอย่างดีจากแทบทุกกลุ่มอายุ แม้กลุ่มอายุ 18 – 30 ปี จะนิยมพรรคก้าวไกลมากที่สุด แต่รองลงมาก็เป็นพรรคเพื่อไทย
สะท้อนให้เห็นว่าแคมเปญ “แลนด์สไลด์” หรือ “เลือกตั้งแบบมียุทธศาสตร์” อาจจะกำลังเห็นผลจากการที่คนต้องการเปลี่ยนแปลง และวิธีการที่จะมีเสียงข้างมากในสภา ก็คือต้องรวมกันให้ได้มากกว่าเสียง ส.ว.
ผลโพลครั้งนี้คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทย จึงครอบคลุมแทบทุกพื้นที่ ถึงแม้ภาคใต้พรรคประชาธิปัตย์ยังคงกอดด้ามขวานไว้แน่น แต่ก็ต้องยอมรับว่าคะแนนนิยมนั้นลดลง ทุกพรรคการเมืองจึงต้องเร่งทำคะแนนชิงพื้นที่กันมากขึ้น เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ใคร ๆ ก็อยากกินข้าวร่วมโต๊ะเป็นรัฐบาลร่วมกัน
ด้านผศ.สรศักดิ์ มั่นศิลป์ รองคณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า จากผลโพลจะเห็นได้ว่า พรรคการเมืองที่ประชาชนนิยมเป็นอันดับ 1 คือ พรรคเพื่อไทย สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนในแง่ที่ว่าต้องการความเปลี่ยนแปลงจากพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลเดิม รวมทั้งประชาชนอาจมีความชื่นชอบนโยบายของพรรค เช่น เรื่องค่าจ้าง 600 บาทต่อวัน เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท
ในส่วนพรรคที่ได้คะแนนนิยมอันดับ 2 คือ พรรคก้าวไกล ซึ่งถือว่าเป็นขวัญใจของคนรุ่นใหม่ โดยพรรคมุ่งเน้นลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการขจัดการสืบทอดอำนาจ
ส่วนพรรคการเมืองอื่น ๆ ก็มีนโยบายที่มุ่งเน้นตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในระดับรากหญ้า เช่น การพักหนี้ 3 ปีของพรรคภูมิใจไทย บัตรสวัสดิการพลัส 1,000 บาทต่อเดือนของพรรครวมไทยสร้างชาติ การประกันรายได้พืชผลทางการเกษตรของพรรคพรรคประชาธิปัตย์ การเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาทต่อเดือนของพรรคพลังประชารัฐ เป็นต้น
“คงต้องมาลุ้นภายหลังการเลือกตั้งว่า พรรคการเมืองใดจะได้จัดตั้งรัฐบาลและมาบริหารประเทศของเราต่อไป”