ในการเลือกตั้ง ส.ส. 2566 ที่กำลังจะมาถึงนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดให้มีการจับสลากรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด ปฏิบัติงานในการเลือกตั้ง 2566 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
เริ่มปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 77 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2566 ถึงวันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด รวมทั้งสิ้น 423 คน ซึ่งประกอบด้วย
โดยสามารถเปิดดูบัญชีรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง www.ect.go.th
สำหรับการแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดจะแต่งตั้งจังหวัดละไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 8 คน โดยใช้เขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดเป็นเกณฑ์ในการกำหนดจำนวนผู้ตรวจการเลือกตั้ง คือ
1. จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งไม่เกิน 5 เขต จะต้องมีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 5 คน
2. จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 6-8 เขตเลือกตั้ง มีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 6 คน
3. จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 9-11 เขต จะมีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 7 คน
4. จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งตั้งแต่ 12 เขตขึ้นไป จะมีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 8 คน
ในแต่ละจังหวัดจะต้องมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้น จังหวัดละ 2 คน แต่งตั้งจากผู้ตรวจการเลือกตั้งที่มีภูมิลำเนาจากจังหวัดอื่นให้ครบตามที่กำหนด
อำนาจและหน้าที่ของ "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง"
1.ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง เช่น ผู้อำนวยการประจำเขต กรรมการประจำเขต กรรมการประจำหน่วย หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เป็นต้น โดยสามารถแจ้งเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ถ้าไม่มีการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องให้รายงานให้ กกต. ทราบโดยเร็ว
2.ตรวจสอบการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือการกระทำใดที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต เที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
3.เข้าไปในที่เลือกตั้ง หรือสถานที่นับคะแนนเลือกตั้ง เพื่อสังเกตการณ์หรือเมื่อมีเหตุอื่นใดที่อาจทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม
4.ปฏิบัติงานอื่นตามระเบียบ คำสั่ง ประกาศ และมติของ กกต. และตามที่ได้รับมอบหมาย
ทั้งนี้ ผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องรายงานความผิดปกติตามข้อ (1) และ (2) ข้างต้น ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เพื่อให้ดำเนินการสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาดตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
ในการปฏิบัติหน้าที่ให้ถือว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
หากเป็นการขัดขวางโดยใช้หรือขู่เข็ญว่า จะใช้กำลังประทุษร้าย หรือเพื่อให้การเลือกตั้งไม่สุจริต เที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ