จับตา 7 เม.ย.ศาลปกครอง นัดตัดสิน 4 คดีแบ่งเขตเลือกตั้ง

30 มี.ค. 2566 | 10:24 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มี.ค. 2566 | 10:35 น.

ลุ้น!7 เม.ย.ศาลปกครองสูงสุด นัดตัดสิน 4 คดีแบ่งเขตเลือกตั้ง "อรรถวิชช์" ฉะกกต.จงใจสลายเขตด้วยระเบียบส่วนต่าง เชื่อแบ่งเขตใหม่ไม่กระทบวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. แต่ไทม์ไลน์เปลี่ยนเหตุต้องแบ่งเขต- ทำไพรมารีโหวต-สมัครใหม่

30 มี.ค.2566 ศาลปกครองสูงสุดออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนใน 4 คดีที่ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ว่าที่ผู้สมัครส.ส.กทม. นายพัฒ  ตั้งเบญจผล ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์จากจ.สุโขทัย นายวิรัตน์ วิริยะพงษ์ ผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ในจ.สุโขทัย  นายพัฒนา สัพโส ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.จ.สกลนคร

ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)กรณีขอให้เพิกถอนประกาศกกต.เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งลงวันที่ 16 มี.ค.2566 โดยการไต่สวนครั้งนี้ นายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง นำทีมผู้บริหารสำนักงานเดินทางมาชี้แจงด้วยตนเอง
 

จับตา 7 เม.ย.ศาลปกครอง นัดตัดสิน 4 คดีแบ่งเขตเลือกตั้ง

หลังการไต่สวนนานเกือบ 2 ชั่วโมง นายอรรถวิชช์ เปิดเผยว่า  ในการวันนี้ ตนได้ให้ข้อมูลต่อศาลไปว่า การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคิดคำนวณ ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้ง ใน กทม. 33 เขตเลือกตั้ง ที่ไม่เหมือนเดิม  29 เขตเลือกตั้ง  เป็นความตั้งใจของ กกต. ถือเป็นการทำลายระบบตัวแทน ทำให้ความผูกพันระหว่าง ผู้แทนราษฎร กับ ประชาชนในพื้นที่ห่างออกไป เป็นกลจักรสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

แต่ กกต.ยืนหลักเอาผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ไม่ควรเกินร้อยละ 10ของจำนวนเฉลี่ย ต่อจำนวน ส.ส.1 คน เป็นตัวตั้ง  ซึ่งเกณฑ์ 10เปอร์เซ็นต์มีมานานแล้วใช้กับต่างจังหวัด  แต่เพิ่งใช้เป็นครั้งแรกกับ กทม.

และที่น่าแปลกใจ คือ ในการชี้แจงของ กกต.วันนี้ พบว่า กกต.ไม่ได้ใช้เกณฑ์ไม่เกิน 10เปอร์เซ็นต์ แต่ใช้เกณฑ์ 5เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ  ซึ่งตนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวกกต.มีเป้าหมายทำให้เขตเลือกตั้งเดิมทั้งหมดถูกสลายไป

จากนี้ต้องวัดใจว่า ศาลปกครองจะมีคำวินิจฉัยตาม กกต.หรือไม่  เป็นอำนาจของ กกต.หรือไม่ แต่สำหรับพรรคการเมือง พวกเรามองว่า นี่ไม่ใช่วิถีทางที่จะทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง เพราะเป็นการทำลายระบบตัวแทน 
 

นายนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า

ทั้งนี้ หากศาลปกครองมีคำวินิจฉัยให้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ จะไม่มีผลกระทบต่อกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.2566 เพียงแต่มีผลต่อการทำไพรมารีโหวตของแต่ละพรรคการเมือง และการรับสมัครการเลือกตั้ง ซึ่งสามารถเลื่อนไปวันที่ 14-18 เม.ย.2566 และขยายวันเลือกตั้งล่วงหน้าออกไป จะทำให้ไทม์ไลน์ขยับแต่วันเลือกตั้งไม่ขยับ 

“เกณฑ์ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ระหว่างราษฎรกับ ส.ส. 1คน เกณฑ์นี้ กกต.เพิ่งใช้ครั้งแรก ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม. เมื่อก่อนใช้กับการปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดอื่นๆ  ในอดีต แต่ไม่ใช้ใน กทม. อย่างการเลือกตั้ง ส.ก.ที่ผ่านมา

แต่ กกต.เลือกใช้ในครั้งนี้ เพื่อสลายเขตเลือกตั้งเดิม โดยมีเพียง 4เขตเท่านั้นที่เหมือนเดิม ถ้าหาก กกต.มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดดำเนินการหั่นเขตแบบนี้ได้ ก็แปลว่า การเลือกตั้งในครั้งต่อไป เพียง กกต.แก้ระเบียบขับตัวเลขเปอร์เซ็นต์ก็จะสลายเขตได้ทันที ” 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้ง 4 คดีศาลปกครองสูงสุดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในวันที่ 4 เม.ย.66 และนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่7 เม.ย.66 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรับสมัคร ส.ส.ทั้งสองแบบ