วันที่ 30 มีนาคม 2566 นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผย ถึงกรณีที่สมาคมต้มยำไทยในมาเลเขีย โดยนายสำสูเด็ง แวซุกาเลาะ ประธานสมาคมฯ ได้ขอให้พิจารณาทบทวนการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในประเทศมาเลเซีย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 27-28 เมษายน 2566 ตามที่ทางสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ได้ประกาศนั้น
ทางสมาคมได้รับการร้องเรียนจากแรงงานในร้านอาหารต้มยำและคนไทยที่อาศัยอยู่ในมาเลเซียเป็นจำนวนมาก เนื่องจากวันเวลาดังกล่าวจัดขึ้นหลังการเฉลิมฉลองวันอีดีลฟิตรี ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 เมษายน 2566 และคนมุสลิมส่วนใหญ่จะเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาในประเทศไทยเพื่อเฉลิมฉลองกับครอบครัว เป็นช่วงของการหยุดยาวประจำปี และจะเดินทางกลับมายังมาเลเซียอีกครั้ง หลังจากนั้นประมาณ 7 - 10 วัน
ทั้งนี้ การประกาศวันลงคะแนนตามวันดังกล่าว ได้สร้างความไม่สบายใจเป็นอย่างมาก และเกรงกันว่าจะทำให้เสียสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ เพราะหากเลือกวิธีลงคะแนนนอกราชอาณาจักร ก็จะกลับมาลงคะแนนไม่ทัน
และถ้าจะกลับไปลงคะแนนที่ประเทศไทยในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ก็จะเกิดปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะเป็นไปได้ยากที่จะหยุดงานกลับไปอีกครั้งและจะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการเดินทาง
สำหรับคนที่ทำงานตาม
บริษัทเอกชนก็จะลางานได้ยากเช่นกัน เพราะเป็นเวลาทำงาน โดยเรียกร้องให้มีการพิจารณาใน 2 ประเด็น คือ
1.ขอเลื่อนวันออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งจากเดิมเป็นวันที่ 4-5 พฤษภาคม 2566
และ 2.ขอให้มีการลงคะแนนทางไปรษณีย์และส่งบัตรเลือกตั้งมายังสถานเอกอัครราชทูตไทย
ตามที่ทางสถานเอกอัครราชทูตได้กำหนดเวลาไว้ เฉกเช่นเดียวกับการเลือกตั้งในประเทศอินโดนีเชียและอีกหลายประเทศ
ทั้งนี้จะทำให้คนไทยที่อาศัยอยู่ในรัฐห่างไกลจากส่วนกลาง เช่น รัฐซาบาห์ ชาราวัค ก็มีสิทธิได้ลงคะแนนเลือกตั้งด้วยเช่นกัน
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ตามมาตรา 109 ในการเลือกตั้งทั่วไปอันมิใช่เป็นการเลือกตั้งใหม่ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักรจะขอลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งเฉพาะในครั้งนั้น ณ ประเทศที่ตนมีถิ่นที่อยู่ก็ได้
เมื่อได้ลงทะเบียนตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิเลือกตั้งได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 110 และมาตรา 111 ให้นำความในมาตรา 107 วรรคสี่ และมาตรา 108 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
เว้นแต่ในส่วนที่เกี่ยวกับวันที่กำหนดให้มาใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน คณะกรรมการจะกำหนดให้แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ตามที่เห็นสมควรก็ได้
และ มาตรา 110 ในกรณีที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งในประเทศใดให้คณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายจัดให้มีการออกเสียงลงคะแนนในประเทศนั้น โดยอาจจัดให้มีสถานที่ลงคะแนน หรือให้มีการออกเสียงลงคะแนนทางไปรษณีย์หรือโดยวิธีอื่นใดที่มีใช่เป็นการจัดให้มีสถานที่ออกเสียงลงคะแนนก็ได้
ทั้งนี้ ให้พิจารณาตามความเหมาะสมของประเทศนั้น และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
ทั้งสองมาตรานั้น เปิดช่องทางให้ทำได้ จึงอยากขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้เร่งพิจารณาเรื่องดังกล่าวของสมาคมฯ รวมทั้งพิจารณาข้อปัญหาในลักษณะที่คล้ายคลึงของแต่ละพื้นที่ ที่มีคนไทยอาศัยอยู่และลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรไว้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญของการทำหน้าที่ของคนไทยตามรัฐธรรมนูญกำหนด และสิทธิ์การเลือกตั้งต่างๆ