วันนี้ (10 เม.ย.66) นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงกรณีประชาชนแห่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อวานนี้ (9 เม.ย.) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายจนระบบล่ม ว่า เมื่อคืนทางสำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย แจ้งมา เหตุที่ระบบล่มเพราะประชาชนเข้าไปลงทะเบียนจำนวนมากในช่วง 21.00 น. กกต.ก็ต้องขอโทษประชาชนที่เกิดเหตุดังกล่าว
ท้้งนี้ ทางสำนักบริหารการทะเบียนฯ ชี้แจงว่า ศักยภาพของระบบสามารถรองรับคนละลงทะเบียนได้ 4,000 คนต่อวินาที ซึ่งขณะนี้ทางสำนักบริหารการทะเบียน ก็กำลังพยายามที่จะแก้ไข เมื่อเช้าก็ได้มีการประสานว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้คนที่เข้าไปลงทะเบียน แต่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ เพราะระบบมีปัญหาเสียก่อน เป็นผู้ขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า โดยมีการติดต่อผู้ที่ขอใช้สิทธิ์เพื่อให้ยืนยันว่าจะใช้สิทธิ์ที่ใด
เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีการขยายระยะเวลาการลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า นายแสวง กล่าวว่า ยังไม่ขอตอบ ขอให้ทางสำนักบริหารการทะเบียนพิจารณาแก้ไขปัญหาก่อน ว่าจะสามารถอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขของผู้ขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าในขณะนี้ใกล้เคียงกับปี 62 คือ กว่า 2 ล้านคน ซึ่งก็บ่งชี้ว่าคนกลุ่มนี้ไม่สะดวกที่จะไปใช้สิทธิ์ในวันเลือกตั้ง
ส่วนการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร กกต. มีการประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ การท่าอากาศยานไทย กรมการกงสุลซึ่งก็ต้องเห็นใจทางกระทรวงการต่างประเทศ และผู้ขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เพราะการบริหารจัดการค่อนข้างลำบาก ประชาชนกว่าจะได้ใช้สิทธิ์ต้องเสียเวลาค่อนข้างมาก
สำหรับเรื่องของการนำบัตรกลับมานับยังประเทศไทย เรามีการซักซ้อมกับกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งสถานทูตไทยในบางประเทศรับผิดชอบดูแลหลายประเทศ แต่ด้วยที่เรามีบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งก่อน ก็คิดว่าจะไม่ให้เกิดเหตุนำบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรมานับไม่ทันอีก
“เวลานี้กระทรวงการต่างประเทศก็หาวิธี เพื่อให้นำบัตรกลับมานับพร้อมกันในวันเลือกตั้งให้ได้ทุกบัตร อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งนี้ กกต. ตั้งเป้าใช้สิทธิ์เลือกตั้งร้อยละ 80”
นายแสวง ยังกล่าวถึงกรณีให้พรรคเพื่อไทย(พท.) ชี้แจงที่มาของเงิน และวงเงินที่ต้องใช้ในนโยบายหาเสียงแจกเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ว่า ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่านโยบายที่จะต้องมีการใช้จ่ายเงิน จะต้องมี 3 เงื่อนไขคือ
1.วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ 2.ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย 3.ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนพิจารณาตัดสินใจ ว่าจะเลือกพรรคนั้นหรือไม่
“ตอนนี้มี 6 พรรคที่มีการแจ้งว่า มีนโยบายเกี่ยวการเรื่องการใช้จ่ายเงินมายัง กกต. โดยวันนี้ก็จะให้สำนักงานฯ แจ้งไปยังทุกพรรคที่รายงานมาว่าจะต้องมีการชี้แจง 3 เงื่อนไขดังกล่าวมาให้ครบถ้วน ซึ่งนโยบายแบบนี้จะถือว่าไม่ใช่การสัญญาว่าจะให้ แต่ถ้าไม่มีข้อมูล 3 เงื่อนไขดังกล่าว อาจจะผิดเข้าข่ายหลอกลวง ตามกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา73(5) ก็ได้”
อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ได้บอกว่า ถ้ารายงานไม่ครบแล้วจะมีความผิดเพียงแต่กำหนดว่าให้ กกต. แจ้งให้ดำเนินการให้ครบถ้วน และมีโทษเป็นการปรับจนกว่าจะดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วน