จากกรณีฐานเศรษฐกิจ เปิดประเด็นคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย แสดงความประสงค์ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการ เลือกตั้ง (Election Expert Mission : EEM) ของสหภาพยุโรป หรือ EU จำนวน 2-4 คน เข้ามาติดตามการเลือกตั้งทั่วไปของไทยในปี 2566 นั้น ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศ ได้เชิญหน่วยงานต่าง ๆ เข้าหารือ พร้อมแสดงความกังวลถึงเรื่องดังกล่าวออกมาอย่างชัดเจน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : EU จับตาเลือกตั้งไทย ร่อนหนังสือขอเข้าสังเกตการณ์
แหล่งข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศ ระบุกับฐานเศรษฐกิจว่า ในการประชุมเพื่อประสานงานหน่วยงานไทยเกี่ยวกับคำขอสังเกตการณ์การเลือกตั้งของฝ่ายต่างประเทศ ได้หารือถึงกรณีนี้ซึ่งผู้แทน กกต. ชี้แจงว่า เนื่องจาก EEM ที่แสดงความประสงค์เข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งในไทย ไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายตามที่ คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดไว้ 3 กลุ่ม คือ
หวั่นอาจมีนัยการเมือง-กระทบภาพลักษณ์
ดังนั้น จึงเกรงว่า EEM อาจสัมภาษณ์หน่วยงานอื่น ๆ เกี่ยวกับประเด็นที่อยู่นอกเหนือจากภารกิจของ กกต. เช่น สถานการณ์สิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออก และ สถานการณ์การประท้วงของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล โดยแหล่งข่าวยอมรับกับฐานเศรษฐกิจว่า กรณีนี้ยังอาจรวมถึงการแสดงความประสงค์เข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งในพื้นที่ ที่มีความอ่อนไหวอย่างจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอาจมีนัยทางการเมืองและส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทยด้วย
แต่อย่างไรก็ดียังมองในด้านของโอกาสและความท้าทายจากการรับคณะผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจาก EU หากไทย อนุญาตให้ EEM เข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งว่า จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างไทยและ EU
นอกจากนี้ ยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านข้อเสนอแนะเชิงเทคนิคเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้ง เช่น การใช้เทคโนโลยี ดิจิทัล และการขยายฐานผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อาจเป็นประโยชน์ต่อการจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไปของไทย
กต. ชั่งใจ อาจให้เจ้าหน้าที่ตามติด
ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมจึงเห็นว่า ถึงแม้ว่า EEM มีแนวทางการสังเกตการณ์ในลักษณะไม่เปิดเผย และไม่ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลลัพธ์ของรายงานการประเมินการสังเกตการณ์การเลือกตั้งของไทยต่อสาธารณชน อย่างไรก็ดีก็มีข้อห่วงกังวลว่ากรณีที่ EEM เข้าพบเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกับสมาคมผู้สื่อข่าว หรือ NGO ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดังกล่าว จนอาจหยิบยกผลลัพธ์รายงานการประเมินฯ มาขยายผลหรือเผยแพร่ต่อก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม กกต. ได้กำหนดแนวปฏิบัติ (Code of Conduct) และจัดกิจกรรมชี้แจงเกี่ยวกับการสังเกตการณ์การเลือกตั้งอยู่แล้ว โดยในกรณีของ EEM ควรมีการหารือถึงรายละเอียดเพิ่มเติมว่าไทยมีข้อห่วงกังวลในประเด็นการขอเดินทางเข้าพื้นที่อ่อนไหว เช่น จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรืออาจระบุแนวปฏิบัติเพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ หรือ กกต. ร่วมเดินทางไปพร้อมคณะ EEM ในฐานะผู้ประสานงานด้วย