เลือกตั้ง 2566 : พรรคเสมอภาคยันมุ่งให้ทุกศาสนาอยู่ร่วมกันได้

25 เม.ย. 2566 | 01:06 น.
อัปเดตล่าสุด :25 เม.ย. 2566 | 01:37 น.

เลือกตั้ง 2566 : พรรคเสมอภาคยันมุ่งให้ทุกศาสนาอยู่ร่วมกันได้ หลังมีภาพป้ายหาเสียงแก้ ร.ธ.น. ให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ จนเกิดผู้ที่เห็นชอบ และผู้ที่คิดต่างให้ข้อเสนอแนะเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์

รฎาวัญ (ลดาวัลลิ์) วงศ์ศรีวงศ์ หัวหน้าพรรคเสมอภาค เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวนี้ขอยืนยันว่า มีความตั้งใจที่จะมุ่งส่งเสริม สนับสนุน คุ้มครองทุกศาสนาและทุกความเชื่อของพี่น้องประชาชน ให้เกิดความเสมอภาค เกิดความกลมเกลียวทางสังคม ยึดมั่นในหลักการที่ว่ารัฐกับศาสนาต้องแยกเป็นอิสระจากกันเป็นรัฐโลกวิสัย(secular state) ให้ประชาชนอยู่ร่วมกันของคนต่างศาสนาได้ดี 

ด้านวัฒนธรรม ให้การส่งเสริมและสนับสนุนภาครัฐดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ในการสร้างอัตลักษณ์และอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และจุดเด่นทางทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย ผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและการส่งเสริมการท่องเที่ยว 

ทั้งนี้ พรรคจะผลักดันให้มีมาตรการทางกฎหมายในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นให้อยู่ในกรอบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญบัญญัติโดยคำนึงถึงอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยในการรับรองรับการถือเสียข้างมากเป็นสำคัญ ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ของประเทศให้การนับถือมาช้านานให้เป็นศาสนาแห่งชาติ 

รวมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดการศึกษาในการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทในสถาบันการศึกษาทุกระดับทุกสถานการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจให้มีคุณธรรมรักความสุจริตรักความเป็นธรรมและเกิดปัญญาในการพัฒนาตนเอง สังคมและประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน 

นอจากนี้ จะผลักดันให้มีมาตรการทำกฎหมายในการสร้างกลไกให้พุทธศาสนิกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และ  ตั้งใจยกร่างกฎหมายพ.ร.บ.ส่งเสริมเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อทางจิตวิญญาณ พ.ศ....

“ยืนยันว่ายิ่งไปกว่าด้วยร่างกฎหมายฉบับนี้ หากผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จะให้การรับรองและคุ้มครองทุกศาสนา ทุกความเชื่อที่มีความหลากหลายยิ่งของประชาชนในประเทศไทย อาทิ การนับถือการไหว้บรรพบุรุษ การบูชาสถานที่ศักด์สิทธิ์และพิธีกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย”