ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัคร ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เข้ายื่นหนังสือต่อประธาน กกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีที่กกต.นครนายก ไม่ประกาศรับรองให้ตนเป็นผู้สมัคร ส.ส. นครนายก เขต 2 เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามในการลงรับสมัครรับเลือกตั้ง โดยอ้างว่าถือหุ้นสื่อ
นายชาญชัย กล่าวว่า ตนขอให้ กกต.กลางดำเนินการตรวจสอบในเรื่องนี้ เนื่องจากในการเลือกตั้งปี 2562 ตนได้ลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคปชป. โดยผ่านการรับรองคุณสมบัติจากนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. แต่ในการเลือกตั้งปี 2566 ตนลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขต จึงเป็นอำนาจของกกต.นครนายก ซึ่งไม่ได้รับรองตนเป็นผู้สมัคร
โดยอ้างว่า ตนมีคุณสมบัติต้องห้ามจากการถือหุ้นสื่อในบริษัท แอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ซึ่งมีคุณสมบัติต้องห้ามของการเป็นผู้สมัครส.ส. ตามมาตรา 42(3) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับเดียวกันกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว
ทั้งนี้ จึงเกิดความสงสัยในการทำงานของ กกต.ว่า ตนถือหุ้นมาตั้งแต่ปี 2558 ก่อนที่ปี 2562 ประธานกกต.จะรับรองคุณสมบัติของตน และไม่พบปัญหา แต่ในการเลือกตั้ง 2566 กกต.นครนายก กลับไม่รับรองสิทธิสมัครโดยระบุว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามจากการถือหุ้นดังกล่าว
และหลังจากนั้นประธาน กกต.ได้ตัดสิทธิตนลงรับสมัคร โดย กกต.ใช้เวลาตรวจสอบคุณสมบัติเพียง 1 คืน และตัดสิทธิทันที โดยไม่ได้เรียกตนมาสอบถาม หรือแจ้งให้ทราบตามระเบียบ กกต. ทั้งนี้ การที่กกต.จะบอกว่าต้องเร่งรีบตัดสิทธิทันทีนั้น ไม่จริง เพราะกกต.ยังมีอำนาจในการส่งเรื่องให้ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิหลังวันที่ 14 พ.ค. นี้ได้
“ผมขอให้เลขาธิการกกต.ชี้แจงภายในวันที่ 14 พ.ค. นี้ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เนื่องจากผมได้รับความเสียหายจากการถูกตัดสิทธิ์ในครั้งนี้ แม้ว่าผมจะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่ออุทธรณ์คำสั่งของกกต. แต่ผมก็อยากทราบถึงการทำงานหรือการตีความของ กกต.ที่ขัดแย้งกัน ทั้งที่เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 60 และกฎหมายเลือกตั้งฉบับเดียวกันกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว
ทั้งนี้การออกคำสั่งที่มิชอบของ กกต.เมื่อการเลือกตั้งปี 2562 ที่ได้ตัดสิทธินายสุรพล เกียรติไชยากร ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.เชียงใหม่ ทำให้กกต.ต้องชดใช้ความเสียหายมูลค่า 60 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย ซึ่งเป็นเงินภาษีจากประชาชน จึงอยากให้กกต.ตรวจสอบอย่างรอบคอบ ที่ผ่านมา
ผมได้รวบรวมข้อมูลเพื่อที่จะชี้แจงต่อศาลฏีกา ได้พิสูจน์คำว่าสื่อนั้นคืออะไร สื่อที่เอไอเอสถืออยู่คืออะไร และตรวจสอบว่าใบอนุญาตของ กสทช.ที่ AIS ไปถือหุ้นสื่อว่า มีหรือไม่ ก่อนจะพบว่าไม่มีตามที่ถูกกล่าวอ้าง พบว่าเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคม” นายชาญชัย กล่าว
นายชาญชัย ยืนยันว่า จากที่ตรวจสอบไม่พบข้อมูลที่เอไอเอสไปถือหุ้นสื่อสารมวลชน ไม่ว่าทั้งโทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ แต่อย่างใด รวมถึงสื่อที่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ทั้งนี้ตนได้แจกรายชื่อของนักการเมืองทั้ง 130 คนที่ถือครองหุ้นตามหลักฐานของ กกต.ที่นำมาส่งมอบให้ตนในฐานะผู้ร้อง
โดยวันนี้ตนมาเพื่อขอให้ กกต. ชี้แจงสังคมไทยว่า ทั้ง 129 คน ที่ไม่ถูกตัดสิทธิ์การลงสมัครเลือกตั้ง ถือครองหุ้นอะไรบ้าง ผิดหรือไม่ อย่างไรเพราะมั่นใจว่าต้องมีผู้ที่ถือครองหุ้นของบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมค่ายต่างๆ แต่ทำไมถึงเลือกตัดสิทธิ์ตนเพียงคนเดียว